สำรวจความเชื่อทางการเมืองของตนเอง?

January 29, 2021

คุณมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน สงสัยมั้ยว่าอะไรทำให้คนเป็นการเมืองแบบ “ซ้าย” หรือ “ขวา” แล้ว “ซ้าย” และ “ขวา” มันคืออะไร มันมีอยู่จริงหรือไม่

จากโพสต์นำเสนอแนวคิดคอมมิวนิสต์ของแกนนำม็อบกลุ่มหนึ่ง มีปฏิกิริยาอันหนึ่งที่สะดุดใจมีคนหนึ่งแชร์โพสต์แล้วถามว่า “กูเป็นสลิ่มแล้วหรือเปล่า”

เมื่อประมาณ 2-3 เดือนก่อนมีรุ่นน้องคนนึงที่คิดมาตลอดว่าตัวเองเป็นซ้ายในไทย ไปเดทกับน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่อายุน้อยกว่าตัวประมาณนึงแล้วโดนผู้หญิงคนนั้นต่อว่า “ก็พี่อ่ะเป็นพวกอนุรักษ์นิยม” น้องผู้ชายถึงกับช๊อค ความเชื่อทั้งชีวิตสั่นคลอนไปหมด ถึงขั้นต้องถามว่า “ผมเป็นสลิ่มเหรอครับพี่”

จากคนที่เคยคิดว่าเป็นซ้าย พอเจอคนซ้ายกว่า ก็อาจรู้สึกกลายเป็นขวาไปได้ง่ายๆ ว่าแต่อะไรทำให้ใครเป็น “ซ้าย” หรือ “ขวา” ทำไมเราถึงมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลายนัก

อยากชวนทำความเข้าใจกว้างๆ ผ่าน Ted Talk ของนักจิตวิทยาสังคม คุณ Jonathan Haidt ผู้ศึกษาความเชื่อทางศีลธรรมที่กำหนดความเชื่อทางการเมืองของเรา

สมมุติว่ามีผู้ชายสองคนยืนอยู่หน้ารูปปั้นปูนเปลือยเดวิดด้วยกัน ในขณะที่ชายคนแรกอึ้งกับความสง่างามกำยำของกายมนุษย์ ชายคนที่สองก็อึ้ง แต่อึ้งว่าทำไมถึงโจ่งแจ้งอนาจารขนาดนี้ก่อนเอามือปิดตาตัวเอง

เราเดาได้มั้ยว่าใครน่าเป็นเสรีนิยม (ซ้ายกลาง) หรืออนุรักษ์นิยม (ขวากลาง)?

คำตอบหลายคนน่าจะเหมือนกัน เพราะเราต่างก็มีภาพจำของคนเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยมอยู่ ประเด็นคือ ภาพจำนี้มันมีที่มาที่ไป

นิสัยหนึ่งที่ใช้วัดได้ดีมากว่าคนคนหนึ่งจะเอียงซ้ายหรือเอียงขวาคือ “นิสัยชอบลองประสบการณ์ใหม่” (openness to experience) ถ้ามีเยอะมักเอียงซ้าย ถ้ามีน้อยมักเอียงขวาคนที่ชอบลองประสบการณ์ใหม่คือคนที่นิยมความแปลกใหม่ ความหลากหลาย แนวคิดใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวในขณะที่คนที่มีนิสัยนี้น้อยชอบอะไรที่คุ้นเคย ที่ปลอดภัย พึ่งพาได้

นิสัยนี้ไม่ได้มาจากเพียงการเลี้ยงดู แต่คุณ Haidt เขาเชื่อแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์สมองคนหนึ่งที่ชื่อ Marcus ว่า เด็กเกิดมาก็มีสิ่งที่เรียกว่า “first draft” หรือ “ร่างแรก” อยู่แล้ว แล้วค่อยมา “improvise” หรือ “ปรับเปลี่ยน” ตามสภาพแวดล้อม หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าคนเราไม่ได้เกิดมาเป็นผ้าขาว แต่เกิดมาพร้อมแนวโน้มที่จะมีนิสัยบางอย่าง แล้วสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูสังคมมาช่วยหล่อหลอมต่อว่าจะมีมากมีน้อยเพียงใด

แล้วคนที่เป็นเสรีนิยม/อนุรักษ์นิยมน่าจะมีนิสัยแบบไหน

คุณ Haidt เขาศึกษางานมานุษยวิทยาจริยธรรมและจิตวิทยาวิวัฒนาการจากวัฒนธรรมหลายๆ แห่ง แล้วพบว่าตัววัดที่ดีที่สุดคือ ค่านิยมที่ติดตัวมนุษย์ 5 ข้อนี้

1 การดูแลผู้อื่น ความอยากปกป้องผู้อื่นไม่ให้ถูกทำร้าย

2 ความยุติธรรม (fair) การตอบแทนอย่างเหมาะสม

3 การชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ความจงรักภักดี

4 ความเคารพผู้มีอำนาจ การยกย่องว่ามีผู้อยู่สูงกว่า อย่างเต็มใจ

5 ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือ แนวคิดที่ทำให้เชื่อว่าเราสามารถรักษาความบริสุทธิ์ไว้ได้

เพื่อเก็บข้อมูล คุณ Haidt กับเพื่อนนักวิจัยเขาเปิด website ที่ชื่อ yourmorals.org เพื่อวัดว่าคนที่บอกว่าตัวเองเป็น “เสรีนิยม” กับ “อนุรักษ์นิยม” มีนิสัยเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

มีคนมาร่วมตอบกว่า 30,000 คน จากทุกทวีปทั่วโลก ปรากฎว่า ทั้งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมต่างก็ให้คะแนนข้อ 1 และ ข้อ 2 สูง แต่พอข้อ 3-5 เสรีนิยมกลับให้คะแนนต่ำในขณะที่อนุรักษ์นิยมให้คะแนนสูง หมายความว่าทั้งซ้ายและขวาต่างก็ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้อื่นและการตอบแทนอย่างเหมาะสม แต่อนุรักษ์นิยมให้ความสำคัญกับการอยู่เป็นกลุ่มก้อน การเคารพผู้มีอำนาจ และการรักษาความบริสุทธิ์มากกว่าเสรีนิยมมาก

เสรีนิยมมองว่าการเป็นกลุ่มก้อนที่รัดแน่นเกินไปและคนมีอำนาจจนเกินพอดีทำให้เกิดการกดขี่ พวกเขาจึงต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการความยุติธรรม ถึงแม้จะต้องแลกมาด้วยความวุ่นวาย

ขณะที่อนุรักษ์นิยมรักความเป็นสถาบัน รักประเพณี พวกเขาต้องการระเบียบแม้จะมีราคามนุษย์ที่ต้องจ่าย สำหรับอนุรักษ์นิยมแล้วความสงบเรียบร้อยเป็นสิ่งยากยิ่งที่จะได้มา มันจึงทรงคุณค่ามาก ไม่อยากสูญเสียไป

ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่เพื่อชวนทำความเข้าใจคนที่คิดไม่เหมือนเราแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่อยากให้สมมุติว่า 5 ลักษณะพื้นฐานนี้มันเหมือนกับปุ่มคอนโทรลบอร์ด ปรับขึ้นปรับลงได้ ปรับปุ่มนี้ลงนิด ปุ่มนั้นขึ้นหน่อยก็จะได้คนที่มีความเชื่อทางการเมืองไม่เหมือนกันแล้ว ยิ่งชีวิตจริงคงมีปุ่มอีกนับไม่ถ้วน

ของแบบนี้มันมีสเปกตรัม

ข้อดีของการเคลื่อนไหวปี 63 คือให้พวกเราได้ สำรวจความเชื่อทางการเมืองของตนเองให้ลึกกว่าที่เป็นมา บางเรื่องเราก็อาจเห็นด้วย บางเรื่องก็ไม่เห็น เรื่องไหนเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็แจงกันไป เพียงเพราะเราไม่ได้เห็นด้วยบางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องสวิงไปสุดอีกทาง ไม่ถึงขั้นต้อง สงสัยตัวเองว่ายังงี้ยังนับตัวเองเป็นซ้ายได้มั้ย ต้องกลายเป็นขวาแล้วมั้ย

ย้ำอีกรอบว่าของแบบนี้มันมีสเปคตรัม มันไม่ได้มีแค่ซ้าย กลาง ขวา แต่มันมีระหว่างทาง ไม่นับว่าคนเราเปลี่ยนได้ ความเชื่อเราก็คงไม่ได้เป็นจุดนิ่งตายตัว

ใครอยากรู้ว่าตัวเองอยู่ political spectrum ตรงไหนลองทำแบบทดสอบที่ลิงค์อันนี้ได้ สนุกดี เอาเป็นไกด์ไลน์ขำๆ ได้ ทำแล้วอาจจะรู้จักตัวเองมากขึ้น https://www.politicalcompass.org/analysis2?ec=-3.5&soc=-6.92

อย่างภาพนี้คือ จุดยืนทางการเมืองของแอดมินเอง ในเชิงเศรษฐกิจแอดมินอยู่ไม่ถึงกลางซ้ายด้วยซ้ำ แค่เกือบถึง แต่ในเชิงสังคมแทบจะสุดลงด้านล่างแล้ว อย่างน้อยเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นแบบไหนแล้วเลือกสนับสนุนแนวทางที่ตัวเองเชื่อ ยิ่งรู้จักตัวเองมากก็ยิ่งมีคลังศัพท์ไปอธิบายหรือโน้มน้าวคนอื่นให้ฟังสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้มากขึ้น

หนังสือแปลของคุณ Jonathan Haidt ชื่อ “ความถูกต้องอยู่ข้างใคร” มีแปลแล้ว หรือ ฉบับภาษาอังกฤษเดิมคือ “The Righteous Mind” หากใครสนใจไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ มีขายอยู่หลายบูธเลยส่วนลิงค์ Ted Talk ตามดูได้ที่นี้เลย https://youtu.be/8SOQduoLgRw

2 People reacted on this

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *