คนรุ่นใหม่ขาสั้น vs คนรุ่นเก่าขายาว?
August 11, 2021
BTS (방탄소년단) วง K-Pop ที่ดังที่สุดในโลกปี 2021 มีเพลงมากมายที่เนื้อร้องทำให้คนฟังต้องเหลียวหลังว่านี่มันเพลงเพื่อชีวิตหรือเปล่าทำไมถึงวิพากษ์สังคมเกาหลีลึกซึ้งขนาดนี้1
หนึ่งในนั้นคือ 뱁새 (แบบแซ) หรือ Silver Spoon ซึ่งออกมาเมื่อปี 20152
มาเริ่มกันที่ชื่อเพลง
ชื่อในภาษาเกาหลี 뱁새 แปลว่า crow-tit bird เทียบกับได้กับนกกระจอกขาสั้น ภาษาเกาหลีมีสำนวนเกี่ยวกับเจ้านกขาสั้นนี้ว่า “If a crow tit walks like a stork, it will break its leg.” – “ถ้านกกระจอกเดินเหมือนนกกระสาขาจะหัก”3 ซึ่งหมายถึงว่าถ้าพยายามทำสิ่งที่อยู่เหนือความสามารถมากเกินไปก็อาจล้มเหลวได้
ส่วนชื่อภาษาอังกฤษ Silver Spoon มาจากสำนวนภาษาอังกฤษ “Born with a silver spoon in mouth” หรือ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด”
แล้วใครเป็นนกกระสาและคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด? ก็ “พวกผู้ใหญ่” น่ะสิ
เพลงนี้แสดงความคับข้องใจของคนรุ่น millennial ต่อคนรุ่น Boomer บางคนที่มักจะวิจารณ์ว่าที่เด็กเกาหลีรุ่นใหม่ว่าไม่เอาไหน ไม่อดทน ไม่ขยัน ไม่พยายามถึงไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต โดยที่ไม่รู้เลยว่าบริบทสังคมที่โตมาต่างกันขนาดไหน
ท่อนแรกของเพลงร้องว่า
“พวกเขาเรียกฉันว่านกกระจอก คนรุ่นฉันก็โดนด่าตลอดแหล่ะ ใช่มั้ย
รีบตามพวกเขาไปเร็ว ขอบคุณพวกเขานะที่ทำให้ขาชั้นช้ำขนาดนี้
…
คนที่ว่าฉันก็เหล่าอาจารย์ที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดพวกนั้น”
เพลงนี้ไม่ได้กำลังบอกว่าพวกผู้ใหญ่รวยมาตั้งแต่เกิด แต่ว่าพวกเขาเติบโตในทศวรรษที่เกาหลีใต้เป็นเสือสี่ตัวแห่งเอเชียตั้งแต่ปี 1960s-1990s ที่เศรษฐกิจมีแต่ดีขึ้น GDP พุ่งกระฉูด ก่อนจะถูกดับฝันด้วยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เริ่มจากบ้านเราในปี 19974 สมัยนั้นค่าเล่าเรียนไม่แพง จะซื้อบ้านก็ไม่ยาก ค่าอาหารก็ถูก
ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคนรุ่น Boomer ในเกาหลีอยากจะมีบ้านสักหลังในโซลอาจจะยังพอทำงานเก็บตังค์ซื้อได้ แต่คนรุ่นนี้การมีบ้านเป็นของตัวเองแทบจะกลายเป็นความฝัน ถ้าไม่ได้ทำงานที่จ่ายเงินเดือนเยอะมากๆ หรือประสบความสำเร็จด้านการเงินท่วมท้นสุดท้ายก็มักจะเช่าบ้าน ความกัดดันทางสังคม เศรษฐกิจ การงานเกาหลีกลายเป็นฝันร้ายสำหรับคนรุ่นใหม่หลายคนจนพาลกันเรียกประเทศตัวเองว่า “นรกแห่งโชซอน” (โชซอนเป็นชื่ออาณาจักรเกาหลี อารมณ์เรียกไทยว่าสยาม)
“ไปทำงานพิเศษก็ยังได้แค่ ‘passion pay’
ไปโรงเรียนก็เจอครู
พวกเจ้านายก็ใช้ความรุนแรง
สื่อก็เอาแต่เรียกพวกเราว่า ‘รุ่นแห่งการยอมแพ้’ ”
วัยรุ่นเกาหลีไม่น้อย (อายุ 15-29)5 ต้องอดทนกับ ‘passion pay’ ซึ่งหมายถึงเวลาที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเท่าที่ควร ให้เงินเพียงน้อยนิดโดยให้เหตุผลว่า “แต่เธอได้ประสบการณ์นะ ต้องทำงานให้เต็มที่สิ ไม่ได้เงินเยอะจะเป็นไรไป”
ไอเดียเรื่อง “รุ่นแห่งการยอมแพ้” มาจากเนื้อเพลงในภาษาเกาหลีว่า ‘몇 포 세대’ ซึ่งหมายถึง “The generation that has given up on the xxx amount of things”6 หรือ “คนรุ่นที่ยอมทิ้งสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้” คนเกาหลีรุ่นใหม่รู้สึกว่าสภาพสังคมบีบให้เขาต้องยอมละทิ้งหลายอย่างไปจนเรียกรุ่นตัวเองว่า ‘Sampo Generation’ หรือคนรุ่นที่ต้องละทิ้ง 3 สิ่ง ได้แก่ การหาคู่ การแต่งงาน และการมีลูก
แต่ยิ่งอยู่ๆ ไป หนุ่มสาวเกาหลียิ่งรู้สึกว่ามันมากกว่าสามอย่างเลยขยายจาก 3 เป็น 5, 7, 9 และ 10
3 – การหาคู่ การแต่งงาน การมีลูก
5 – การหาคู่ การแต่งงาน การมีลูก + งานประจำ การเป็นเจ้าของบ้าน
7 – การหาคู่ การแต่งงาน การมีลูก งานประจำ การเป็นเจ้าของบ้าน + สัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ความหวัง
9 – การหาคู่ การแต่งงาน การมีลูก งานประจำ การเป็นเจ้าของบ้าน สัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ความหวัง + สุขภาพ รูปลักษณ์ภายนอก
10 – การหาคู่ การแต่งงาน การมีลูก งานประจำ การเป็นเจ้าของบ้าน สัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ความหวัง สุขภาพ รูปลักษณ์ภายนอก + ชีวิต7
“เปลี่ยนกฏซะ เปลี่ยน เปลี่ยน
แต่พวกคนที่มาก่อนเรากลับอยากจะรักษากฏพวกนี้ไว้
แต่จะปล่อยให้เป็นแบบนั้นได้ไง ปัง ปัง
นี่มันปรกติตรงไหน นี่มันปรกติตรงไหน
เลิกซะทีเหอะ คำว่า “พยายาม” มีแต่คำว่า “พยายาม”
แค่ฟังฉันก็ขนลุกแล้ว
พยายามมากขึ้นอีกสิ พยายามมากขึ้นอีกหน่อย
พวกนายไม่มีโอกาสเหมือนกับที่คนรุ่นก่อนคิดหรอก”
เกาหลีเป็นประเทศแห่งการบ้าความขยัน สิ่งนี้เห็นได้ชัดผ่านประโยคที่คนเกาหลีพูดกันติดปากเวลาได้รางวัลหรือทำงานเสร็จ เขามักบอกว่า ‘더 열심히 하겠습니다’ ซึ่งแปลว่า “จะขยันให้มากขึ้นอีก” หรือ ‘노력하겠습니다’ “จะพยายามให้มากยึ้นอีก” คนรุ่นใหม่บางคนจึงรู้สึกว่าพยายามเท่าไหร่ก็ไม่พอ เวลาเขาบ่นว่าเขาซื้อบ้านไม่ได้ เงินเดือนก็น้อย คนรุ่นก่อนก็จะเอาแต่พูดว่า “ให้พยายามมากขึ้นอีกสิ” “ทำไมไม่พยายาม”
Verse ท่อนที่สองร้องว่า
“ฉันมีขานกกระจอก แต่คุณมีขานกกระสา
เอาแต่พูดว่า ‘ขาฉันมีค่าเป็นล้านเหรียญ’
แต่ขาฉันสั้นกว่า แล้วคุณจะมาหวังให้ชั้นเดินตามทันได้ยังไง
พวกเขาบอกว่า ‘แล้วมันเป็นปัญหาได้ไงในเมื่อเรามาจากแผ่นดินเดียวกัน’
ไม่มีทาง ไม่มีทาง ไม่มีทาง”
มาถึงตรงนี้เพลงกำลังสรุปให้เราฟังว่า คนรุ่นใหม่เกิดมาขาสั้น จะให้เดินทันคนบูมเมอร์ที่เกิดมาขายาวได้ยังไง แค่เดินตามก็ไม่ทันแล้ว คุณไม่รู้เหรอว่าในเชิงเศรษฐกิจแล้วคุณได้เปรียบขนาดไหน แค่เกิดบนเกาหลีเหมือนกันไม่ได้หมายความว่า ความลำบากของคนต่างรุ่นจะเหมือนกัน ไม่มีทาง ไม่มีทาง ไม่มีทาง
นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะประเทศเกาหลี ญี่ปุ่นก็มีปัญหาคนรุ่นที่ละทิ้งสิ่งต่างๆ เช่นกันเรียกว่า “Satori Generation” อีกด้านหนึ่งของการเป็น Miracle Countries of Asia ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาทิ้งความกดดันรูปแบบใหม่ให้แก่คนรุ่น millennials จำนวนมาก ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย ความยากลำบากในการเป็นเจ้าของบ้าน ฯลฯ
ท่อนท้ายสุดของเพลงลงท้ายว่า
“พวกเรามันนกกระจอก นกกระจอก”
ในภาษาเกาหลีท่อนนี้เขียนว่า ‘우린 뱁새야 뱁새야’ (อูรีน แบบแซยา แบบแซยา) ซึ่งเสียงคำว่า “แบบแซยา” คล้ายกับคำหยาบ ‘십새야’ “ชิปแซยา” และ ‘캐새야’ “แคแซยา” ซึ่งแปลว่า motherfucker และ son of a bitch ในภาษาเกาหลี ซึ่งพอคนเกาหลีฟังปุ๊ปจะนึกถึงได้ทันที เท่ากับ BTS จบเพลงด้วยการด่าคนที่มารุ่นก่อนหน้าว่า motherfxxxx8 แล้วก็จบเพลงไป
————————————————————
อ้างอิง
1 ช่อง DKDKTV ใน YouTube เรียกว่าเป็นเพลงที่ ‘การเมือง’ ที่สุดของ BTS
2 The Most Beautiful Moment in Life pt. 2 ปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ BTS ยังไม่เข้าสู่ mainstream เต็มรูปแบบ ยังไม่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นชื่อที่รู้จักทุกบ้านเท่าทุกวันนี้
3 https://linguaholic.com/linguablog/the-meaning-of-crow-tit/
4 https://en.wikipedia.org/wiki/Four_Asian_Tigers
7 https://en.wikipedia.org/wiki/Sampo_generation
8 DKDKTV.https://www.youtube.com/watch?v=RP4Qbh2rXFU
*เนื้อเพลงทั้งหมดและคอมเมนท์บางส่วนอาศัยข้อมูลจาก Genius เว็บไซต์ https://genius.com/
**ภาพ crow tit จาก https://www.artstation.com/artwork/48eWbq และ ภาพอัลบั้มและ BTS จาก https://ibighit.com/bts/eng/discography/detail/hwayangyeonhwa-pt2.php