The Fault in Our Stars มีปรัชญาอะไรซ่อนอยู่
October 8, 2021
แม้จะผ่านมา 8 ปี แต่ The Fault in Our Starts ของ จอห์น กรีน (John Green) ก็ยังโอบกอดเราไว้เหมือนอ่านครั้งแรกในสมัยวัยรุ่น เล่มนี้ผุดขึ้นมาในหัวเป็นเล่มแรกเมื่อรุ่นน้องทักมาชวนคุยเรื่อง “หนังสือที่กอดคุณไว้” พร้อมความทรงจำของความรู้สึกหลังอ่านจบที่ยังไม่ลบเลือนว่า “ดีจังที่มีชีวิตอยู่”
The Fault in Our Stars ได้รับการโปรโมทในฐานะ “นิยายวัยรุ่น” “นิยายรัก” “หนังสือ YA (Young Adult” ตามหมวดหมู่ของวงการหนังสือในโลกสมัยใหม่ แต่ The Fault in Our Stars เป็นมากกว่านั้น ใช่ มันเป็นนิยายรักวัยรุ่นที่ไม่บกพร่องเรื่องรัก แต่มันยังพูดถึงจักรวาล ความเจ็บปวดของมนุษย์ การกลัวถูกลืมเลือนและปรัชญามากมายที่สะท้อนมหากาพย์ความเป็นมนุษย์ผ่านชีวิตเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ และเรื่องราวเล็กๆ ที่ชวนตัวเราเมื่อ 8 ปีที่แล้วให้ฉุกคิดครั้งแรกว่าบางทีการจากโลกนี้ไปโดยทิ้งร่องรอยไว้ให้น้อยที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่อย่างใด1
ก่อนจะชวนคุยว่าปรัชญาที่แฝงอยู่ใน The Fault in Our Stars มีอะไรบ้างขอเล่าเรื่องย่อสักเล็กน้อย (หลังจากนี้ สปอยล์หลายส่วนของหนังสือ)
.
เรื่องย่อ
เฮเซล เกรซ (Hazel Grace) ค้นพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งไทรอยด์ตั้งแต่อายุ 13 มะเร็งลามไปที่ปอดจนทำให้เฮเซลต้องพกถังอ็อกซิเจนเพื่อช่วยหายใจติดตัวไปทุกที่จนถึงตอนนี้ที่เฮเซลอายุ 17 แม่ของเฮเซลที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาดูแลเฮเซลเต็มเวลาเห็นว่าเฮเซลน่าจะมีอาการซึมเศร้าเลยคะยั้นคะยอให้เฮเซลไปเข้ากลุ่ม Support Group สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งที่โบสถ์
เฮเซลมีวิธีเข้าใจโลกเฉพาะตัว เธออธิบายว่าแม่เข้าใจผิดที่คิดว่าเธอซึมเศร้าจากมะเร็ง แท้จริงอาการซึมเศร้าสำเป็นผลข้างเคียงของความตาย มะเร็งเองก็เป็นผลข้างเคียงของความตาย เกือบทุกอย่างในโลกนี้ก็เป็นแค่ผลข้างเคียงของความตาย แท้จริงแล้วมะเร็งก็แค่อยากมีชีวิตรอด มะเร็งเป็นแค่ผลข้างเคียงของวิวัฒนาการ ส่วนตัวเธอเองก็เป็นผลข้างเคียงของวิวัฒนาการเหมือนกัน
สุดท้ายเมื่อเฮเซลยอมไป Support Group เธอได้พบกับเด็กหนุ่มอายุ 17 ปีชื่อ ออกัสตัส (Augustus) หรือกัส อดีตนักบาสเก็ตบอลโรงเรียนที่ทุกวันนี้ต้องใส่ขาเทียมแทนขาที่ตัดไปข้างหนึ่งจากมะเร็งในกระดูก ตัวกัสเองก็ไม่ได้ตั้งใจมา Support Group แต่มาเป็นเพื่อนไอแซคซึ่งกำลังจะตาบอดเพราะต้องรักษามะเร็งในตา
ครั้งแรกที่เจอกันกัสกับเฮเซลก็ปะทันกันทางความคิดทันที ขณะที่กัสกลัวการถูกลืมเลือนชนิดที่ไม่มีใครบนโลกจำได้ที่สุดในชีวิต เฮเซลกลับคิดว่านี่เป็นคำตอบที่น่าขำที่สุด เธอบอกว่าสักวันหนึ่งบนโลกนี้ก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์อาศัยอยู่ จะไม่มีใครมีชีวิตอยู่เพื่อจำใครได้ทั้งนั้น เดี๋ยวทั้งพระอาทิตย์และโลกก็จะถูกกลืนหายไปในจักรวาล ฉะนั้นอย่าไปใส่ใจเลยว่าจะถูกลืม คนอื่นก็ไม่มีใครใส่ใจ เมื่อกัสได้ยินคำตอบเฮเซลก็ประหลาดใจจนเปรยออกมาว่าเฮเซลช่างต่างจากคนอื่นเสียจริง
กัสรอเจอเฮเซลหลังเลิก Support Group อยู่ๆ เขาก็หยิบบุหรี่ขึ้นมาแล้วคีบไว้ระหว่างริมฝีปาก เฮเซลตำหนิอย่างรุนแรงว่าไม่เห็นเหรอว่าเธอต้องใช้ถังอ็อกซิเจน ควันบุหรี่อาจจะฆ่าเธอได้ กัสจึงได้โอกาสอธิบายแนวคิดที่เขายึดมั่นในชีวิตว่าบุหรี่ระหว่างริมฝีปากเป็นเพียงอุปมา เราอาจเอาสิ่งที่จะฆ่าเราไว้ที่ริมฝีปากได้ แต่เรามีสิทธิไม่จุดมัน เราเลือกได้
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็สานสัมพันธ์ผ่านการแลกหนังสือที่ชอบสุดอ่าน กัสขอให้เฮเซลอ่าน The Price of Dawn นิยายซอมบี้จากวิดิโอเกม ส่วนเฮเซลขอให้กัสอ่าน An Imperial Affliction นิยายที่จบกลางประโยค สิ่งที่เฮเซลอยากรู้ที่สุดในชีวิตคือตอนจบของหนังสือเล่มนี้ กัสจึงตัดสินใจเติมเต็มความฝันของเฮเซลด้วยการใช้ตั๋วขอพรสำหรับเด็กป่วยหนักพาเฮเซลไปอัมสเตอร์ดัมตามหาผู้แต่ง An Imperial Affliction เพื่อถามตอนจบของหนังสือ ซึ่งเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป สามารถอ่านต่อได้ในหนังสือ (หรือจะไปดูหนัง/อ่านเรื่องย่อที่อื่นก็ตามแต่ผู้เสพย์จะสะดวก)
.
.
แล้วปรัชญาอะไรแฝงอยู่ใน The Fault in Our Stars
โชคชะตา หรือ ฝีมือมนุษย์?
“The fault, dear Brutus, is not in our stars. But in ourselves.” – Shakespeare, Julius Caesar
เราควรโทษใครเมื่อชีวิตเล่นตลก ควรโทษดวงดาวหรือโทษตัวเรา เราควรจะทำความเข้าใจอาการป่วยของคนอายุ 17 สองคนว่าอย่างไร John Green เอาประโยคข้างต้นของ Shakespeare มาตั้งเป็นชื่อนิยาย เพื่อบรรยายตัวเอกสองคนซึ่งเป็นคู่รักแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “star-crossed lovers” หรือ คู่รักที่ดาวไม่บันดาล ได้ตกหลุมรักแต่ไม่อาจสมหวัง (เช่น Romeo กับ Juliet และ Jack กับ Rose ใน Titanic)
มีตอนหนึ่งในหนังสือที่คนแต่งเรื่อง An Imperial Affliction เขียนจดหมายหาออกัสตัสว่า “…หากเธอป่วยน้อยกว่านี้หรือนายป่วยหนักกว่านี้ ดวงดาวก็คงไม่สวนกันถึงเพียงนี้ แต่ใครเลยจะฝืนธรรมชาติที่ดวงดาวมักสวนกันได้” อันที่จริงออกจะตอบได้ชัดเจนว่าผู้ประพันธ์โทษดวงดาว ทั้งกัสและเฮเซลไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีเด็กคนไหนอยากได้ชื่อว่าพวกเขาสู้กับมะเร็งอย่างห้าวหาญ ว่าความตายของพวกเขาเป็นกำลังใจให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เฮเซลและกัสไม่อยากเป็นกำลังใจให้ใคร พวกเขาแค่อยากมีชีวิตอยู่ พวกเขาอยากตกหลุมรัก พวกเขาอยากให้ดวงดาวไม่ crossed แต่เรื่องนี้พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกเลยจริงๆ
ปฏิทรรศน์ของซีโน2 – “Some infinities are bigger than other infinities.”
ระหว่างงานซ้อมงานศพเฮเซลอธิบายว่าระหว่างเลข 0 ถึงเลข 1 มีตัวเลขที่เป็นอนันต์ มันมี 0.1, 0.12, 0.112… ยาวต่อไปไม่จบสิ้น แต่แน่นอนว่าระหว่างเลข 0 ถึงเลข 2 ตัวเลขที่เป็นอนันต์เหล่านี้ก็ยิ่งกว้างขึ้นไปอีก “Some infinities are bigger than other infinities” มีหลายวันที่เฮเซลน้อยใจกับชุดเลขอนันต์ที่น้อยกว่าของตัวเอง เธออยากมีเวลากับกัสให้นานกว่านี้ ถึงกระนั้นเธอก็ยังขอบคุณโชคชะตากับจำนวนอนันต์อันน้อยนิดที่เธอได้รับ ในช่วงเวลาไม่กี่วันกัสได้ให้ชั่วเวลาอันเป็นนิรันดร์แก่เธอ
จอห์น กรีนลองเอาปฏิทรรศน์ (paradox) ของกฏคณิตศาสตร์ Zeno มาทำความเข้าใจกับความรักและความสัมพันธ์ แม้ infinity หรือ อนันต์จะเป็นสิ่งที่ไม่มีสิ้นสุด แต่แม้แต่สิ่งที่ไม่สิ้นสุดก็ยังมีสิ่งที่ไม่สิ้นสุดยิ่งกว่า (ซึ่งเป็นประโยคที่ชวนให้สมองมนุษย์น้อยๆ ของเราฉงนอย่างยิ่ง)
เราในฐานะผู้อ่านตีความดังนี้ ในช่วงชีวิตเราหลายครั้ง แม้เราจะรู้ว่าสักวันชีวิตต้องจบลง แต่เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะจบที่ตอนไหนหรือสิ้นสุดเมื่อไหร่ บางทีเราเองก็เผลอคิดไปเหมือนกันว่าเรามีเวลานิรันดร์ สำหรับเฮเซลและกัสแล้วเมื่อเทียบกับเวลาอันเป็นนิรันดร์ของคู่อื่นอาจจะสั้น แต่มันก็รู้สึกเป็นนิรันดร์เช่นกัน เพราะไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่จนกว่ามันจะจบลงจริงๆ
ชีวิตจบกลางประโยค – Life stops mid-sentence.
ดังนิยายตอนจบของ An Imperial Affliction ที่สิ้นสุดลงหลัง a โดยไม่มีคำใดมาต่อท้าย หลายครั้งเราอาจจะลืมแล้วนึกว่าเราจะได้ใช้ชีวิตจนถึงจุด full stop ของประโยค โดยที่ไม่รู้เลยว่าเรื่องของเราอาจจบตั้งแต่กลางประโยคก็ได้ นิยายที่จบกลางประโยคก็เป็นอุปมาเตือนใจเราว่าอนันต์ของเราอาจจะไม่ยาวนัก อยากทำอะไรในชีวิตขอให้ทำตอนที่ประโยคยังไม่ถูกตัดไป
เราหนีความเจ็บปวดไม่ได้ แต่เราเลือกได้ว่าใคร (หรือสิ่งใด) ที่จะทำให้เราเจ็บปวด
บาดแผลจากการมีชีวิตแทรกอยู่ตลอดนิยายเล่มนี้ ตัวละครมักพูดว่า “Pain demands to be felt.” หรือ “คุณจะถูกบังคับให้รู้สึกเจ็บปวด” เรื่องราวของเฮเซลและกัสไม่รอมชอมกับผู้อ่านแม้แต่นิด ผู้อ่านเองก็ต้องถูกบังคับให้รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสองคนนี้เช่นกัน ทว่า แม้เราหนีความเจ็บปวดไม่ได้ แต่หลายครั้งหลายคราเราเลือกความเจ็บปวดได้ จอห์น กรีนเน้นย้ำเสมอว่าเรามีตัวเลือก มีช่วงหนึ่งเฮเซลหัวฟัดหัวเหวี่ยงว่าทำไมไข่คน (scrambled egg) จะต้องเป็นอาหารเช้า มันจะเป็นอาหารเย็นไม่ได้เหรอ แม่ของเฮเซลเลยปลอบประโลมว่า “…ลูกต้องเลือกสนามรบในชีวิตนะเฮเซล แต่ถ้าลูกเลือกแล้วว่าไข่คนคือสนามรบที่ลูกอยากเอาชนะ พ่อกับแม่ก็จะยืนเคียงข้างลูกเอง”
นอกจากเลือกได้ว่าจะรณรงค์ให้ไข่คนเป็นมากกว่าอาหารเช้าหรือไม่ เรายังเลือกได้ว่าเราจะยอมให้ใครทำให้เราเจ็บปวด ต่อให้เป็นคู่รักที่ดาวไม่บันดาลแต่สุดท้ายการตกหลุมรักก็ยังเป็นการ “เลือก” แม้ความรักทำให้เราเจ็บปวด แต่กัสก็ยังบอกว่าเขาชอบ “ตัวเลือก” ของเขา เขาหวังว่าคนอื่นๆ จะชอบตัวเลือกของตัวเองเช่นกัน “…ผมรักเธอ ผมโชคดีเหลือเกินที่ได้รักเธอ แวน ฮูเทน คุณเลือกไม่ได้หรอกว่าคุณจะเจ็บปวดมั้ยในชีวิตนี้คุณลุงนักเขียน แต่คุณเลือกได้อยู่บ้างนะว่าคุณจะยอมให้ใครทำคุณเจ็บ ผมชอบคนที่ผมเลือก ผมหวังว่าเธอจะชอบคนที่เธอเลือก”
การถูกลืมเลือน vs การถูกจดจำ
การไม่อยากถูกลืมเลือนน่าจะเป็นหนึ่งในนิสัยที่สะท้อนความเป็นมนุษย์มากที่สุด กษัตริย์โบราณที่สั่งสร้างอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงตนเอง ปราสาทขนาดมหึมาที่จารึกว่าผู้สร้างเป็นใคร การเคลมสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเพื่อให้คนจดจำชื่อ ศิลปะเพื่อบันทึกชื่อศิลปิน เพื่อเอาชนะการถูกลืมเลือนมนุษย์ทำอะไรมากมายเหลือเกิน ซึ่งหลายอย่างก็ทิ้งร่องรอยให้กับโลกใบนี้ชนิดที่มองจากจักรวาลก็ยังเห็น (เช่น กำแพงเมืองจีน ฯลฯ)
กัสเองก็เป็นหนึ่งคนที่ปรารถนาจะให้ชีวิตเป็นเช่นนั้น กัสเชื่อว่าทุกคนอยากเป็น “คนพิเศษ” ตัวเขาเองก็อยากเป็นเหมือนนักเขียน An Imperial Affliction อยากถูกจดจำในฐานะใครบางคนที่สำคัญ ถึงขนาดที่กัสเคยนับว่าบนโลกใบนี้มีคนตายไปแล้วทั้งหมด 98,000 ล้านคน หากเพียงมนุษย์ไว้ทุกข์อย่างมีประสิทธิภาพ คน 7,000 ล้านคนบนโลกก็ต้องจำคนที่ตายไปแล้วเพียง 14 คนต่อ 1 คนที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกเท่านั้น แต่สปีชีย์เรายังไม่พัฒนาถึงขั้นนั้น เรายังไว้ทุกข์ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก (ไม่เป็น “organized mourner” ตามคำที่กัสเรียก) คนหลายหมื่นล้านคนบนโลกจึงถูกลืมเลือนไป เหลือเพียงไม่กี่ชื่อเท่านั้นที่มีโอกาสอยู่ในความทรงจำเป็นหลักร้อยหรือพันปี
เฮเซลเป็นขั้วตรงข้ามของกัส เฮเซลคิดว่าชีวิตที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่หรือชีวิตที่ถูกลืมเลือนในช่วงเวลาเพียงไม่กีปีก็มีความหมายไม่ต่างกัน เธออยากทิ้งร่องรอยไว้กับโลกใบนี้ให้น้อยที่สุด วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้เธอไม่สร้างความเจ็บปวดบนบนโลกนี้จนเกินไปนัก กัสบรรยายว่า “เฮเซลเดินบนโลกนี้อย่างแผ่วเบา…คนอาจจะบอกว่ามันน่าเศร้าที่เธอทิ้งร่องรอยไว้น้อยนิด มีเพียงไม่กี่คนที่จะจำเธอได้ มีคนรักเธออย่างสุดหัวใจ แต่ก็มีอยู่เพียงไม่กี่คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าเลย…นี่แหล่ะฮีโร่”
กัสกลัวชีวิตที่ไม่มีความหมาย เขาน่าจะมองโลกคล้ายๆ ความคิดแบบ existentialism หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า อัตถิภาวนิยม กัส (ซึ่งเป็นมะเร็ง อยู่บนเส้นความตายตั้งแต่วัยรุ่น ยังไม่ได้ลองใช้ชีวิตเต็ม) ตกอยู่ในภาวะวิกฤติของการดำรงอยู่ (existential crisis) เขาอยากเกิดมาเพื่ออะไรสักอย่าง แต่ไม่รู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร ยังไม่ทันได้มีเวลาสำรวจมากก็เป็นมะเร็งเสียแล้ว ขณะที่เฮเซลน่าจะเป็น optimistic nihilism3 หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า nihilism หรือ แนวคิดสุญนิยมที่เชื่อว่าสรรพสิ่งไม่มีอยู่จริง ชีวิตไม่ได้มีความหมาย เป้าหมายหรือคุณค่าอะไร แต่ optimistic nihilism ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราสามารถมองโลกที่ไร้ความหมายในแง่ดีได้ ชีวิตไม่มีความหมาย เราก็ใส่ความหมายให้มันสิ สุดท้ายโลกจะหายไปในหลุมดำก็ไม่เป็นไร เรายังมีชีวิตอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ เราทำเท่าที่เราทำได้ เฮเซลเอง (และกัสตอนท้ายๆ) ก็ดูจะมีลักษณะเช่นนี้ เฮเซลเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ ในชีวิตแม้จะรู้ว่าเราเป็นเพียงเม็ดทรายในจักรวาล เป็นผลข้างเคียงของวิวัฒนาการ โลกอยู่มาก่อนเราและจะอยู่ต่อไปแม้ไม่มีเรา เราเองก็หาความหมายในสิ่งเล็กๆ ได้ ตัวเราเองที่เป็นคนเลือกและตัดสินใจเท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย
…และทั้งหมดทั้งมวลคือสาเหตุว่าทำไมอ่านแล้วถึงรู้สึกว่า “ดีจังที่มีชีวิตอยู่” (ไม่นับว่ามี quote น่ารักๆ ที่ cringe-worthy ทำให้มือหงิกต้องจิกหมอนพาคุณไปรู้สึกเหมือน 14 อีกครั้งเต็มไปหมด <3)
.
.
.
.
1 8 ปีที่แล้วความคิดนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมนัก นั่นคือยุคแห่ง Steve Jobs ยุคแห่ง passion ยุคที่การเป็น “someone who leaves dent on earth is worth more than being no one” ความคิดนี้เด่นชัดมากในหนังสืออีกเล่มของ John Green ชื่อ The Anthropocene Reviewed ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้คะแนนพฤติกรรมหรือกิจกรรมอะไรที่เป็นมะนุ้ดมนุษย์ที่สปีชีส์อื่นในโลกไม่มีทางทำได้ (เช่น การมีเพลงเชียร์บอล การทำถ้ำขึ้นมาแทนถ้ำเก่าแบบ Lascaux (ดูได้ในโพสต์รอยมือบนผนังถ้ำลัสโก) ฯลฯ) Anthropocene คือ คำนิยามยุคที่การมีอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างไม่มีวันหวนกลับ การทิ้งร่องรอยไว้กับโลกอย่างมหาศาลเป็นอะไรที่มนุษย์มากๆ สัตว์สปีชีส์อื่นในโลกยังไม่มีใครเทียมเท่าแม้แต่ไดโนเสาร์ที่เคยครองโลกก็ทำไม่ได้
2 หาอ่านเพิ่มได้ที่บล็อกนี้ https://mathhistorythai.wordpress.com/2021/01/01/mathhis28/
3 คนเขียนรู้จัก Optimistic Nihilism ครั้งแรกเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อนผ่านวิดีโอของ Kurzgesagt ใน YouTube https://www.youtube.com/watch?v=MBRqu0YOH14 ซึ่งหลังจากนั้น Optimistic Nihilism ก็กลายเป็นศาสนาของคนเขียนนับแต่นั้นเป็นต้นมา ในเมื่อเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล เราไม่ได้เกิดมาพร้อมจุดประสงค์หรือกรรมเก่า เราก็เป็นผลผลิตทางวิวัฒนาการเหมือนกับสัตว์สปีชีส์อื่น ถ้างั้นชีวิตก็เป็นของเรา ในเมื่อมันไม่ได้มีความหมายที่กำหนดมาก่อน เราเองนี่แหล่ะที่ใส่ความหมายให้มันได้ Kurzgesagt บอกว่าเรา “only get one shot at life” เรามีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้นแหล่ะในชีวิต ฟังดูเคว้งคว้างแต่ก็นั่นแหล่ะ ยังไงโลกก็แตกอยู่ดี ความอับอาย ความผิดพลาด ทุกอย่างที่เราเคยทำไว้เดี๋ยวก็ถูกลืมหมดแล้ว ถ้าชีวิตไม่มีโลกหลังความตาย งั้นก็มีแค่ชีวิตนี้ที่เราได้มานี่แหล่ะที่สำคัญ (Pick your battle!) เราได้ลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ได้มีประสบการณ์ชีวิตด้วยตนเอง มีอะไรให้ทำตั้งมากมาย “เรานี่แหล่ะที่เป็นคนตัดสินใจว่าการมีชีวิตอยู่หมายความว่าอย่างไร” (“You get to decide whatever this means for you.”)