ฉันที่ไปหานักบำบัดและนักบำบัดที่ไปหานักบำบัด
October 26, 2021
อ่าน Maybe You Should Talk to Someone โดย Lori Gottlieb แล้วคิดถึงอะไร
ฉันควรจะเรียนจบปริญญาโทที่ทั้งรักทั้งชังตั้งแต่ไม่กี่วันก่อนอายุ 32
แต่ชีวิตไม่ได้เป็นแบบนั้น
มีนาคมปี 2563 โควิดเริ่มระบาดหนักที่ไทยระลอกแรก ฉันในวัย 31 ซึ่งเรียนปริญญาโทพร้อมกับทำงานฟรีแลนซ์ล่าม แปล สอน เขียน ฯลฯ เกิดว่างกระทันหันชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สองสามเดือนแรกที่ตารางค่อยๆ หายฉันรู้สึกเหมือนได้พักผ่อน ได้หยุดหายใจจากชีวิตที่วิ่งตลอดหลายปี ฉันใช้เวลาเรียนอูคูเลเล่ พูดกับตัวเองว่าว่างแล้วจะเขียนวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ นั่งมองทองฟ้าจากคอนโดชั้น 13 ที่เช่าเพื่อนก่อนเกิดโควิดเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ระหว่างทำงาน
ผ่านไปสามเดือน เวลาว่างที่ฉันควรจะใช้ไปกับการเขียนวิทยานิพนธ์กลับไม่ได้ถูกใช้เท่าไหร่หนัก
ฉันตื่นมาตอนเช้า กินข้าว ตั้งใจจะเขียน แต่หมดเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงไปกับการฟังพอดแคสต์ ดูยูทูบ อ่านการ์ตูน ฟังเพลง พอนาฬิกาเริ่มบอกเวลา 11 โมงโดยที่ฉันยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ฉันก็จะเริ่มด่าทอตัวเองว่าไม่มีวินัย ทำไมไม่เขียนงาน… ทำไมไม่เขียน… ทำไมไม่… ทำไม…
เมื่อเสียงในหัววนอยู่อย่างนี้สักพัก ฉันซึ่งจิตใจอ่อนไหวเป็นทุนเดิมก็เกิดอาการ
เมื่อนาฬิกาบอกเวลาบ่ายโมง ฉันจะเริ่มมือสั่น จิตตก ใจเต้นเร็ว บางวันก็ร้องไห้ นั่งกังวล และตำหนิตัวเองในเรื่องต่างๆ อาการจะหยุดอีกทีประมาณบ่ายสี่โมง
อาการนี้เกิดขึ้นสม่ำเสมอทุกวันประมาณหนึ่งเดือน
ฉันอดทนเพราะรู้ว่าเดี๋ยวทุกอย่างก็จบลง สิงหาคมปีนั้นฉันจะต้องส่งวิทยานิพนธ์ ต่อให้ที่ปรึกษาจะแก้เพิ่มอีกแค่ไหน กำหนดส่งก็คือสิงหาคม แต่อยู่ๆ มหาลัยก็ออกคำสั่งว่าให้สิทธินักศึกษาปริญญาโททุกคนเลื่อนจบไปอีกหนึ่งปีเพราะโควิด
มันเหมือนกับว่าฉันลงแข่งวิ่งมาราธอน 10 กิโลเมตร แล้วพอใกล้เส้นชัยคณะกรรมการก็บอกว่าเปลี่ยนเป็นวิ่ง 15 กิโลเมตรแทนนะ
วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ฉัน breakdown ปิดม่าน ปิดประตูห้องนอน แล้วร้องไห้อยู่สามชั่วโมง
ตอนนั้นเองที่ฉันรู้ว่าฉันต้องการความช่วยเหลือ
ฉันไปเจอภาค CBT ของจุฬาเปิดรับให้คนสมัครเข้าบำบัดโดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก ฉันก็สมัครไป
เวลาผ่านไปฉันอาการดีสลับแย่
อาการดีขึ้นช่วงมีม็อบ 2563 การทำสติกเกอร์โพลรู้สึกชีวิตมีความหมาย เหมือนได้ทำอะไรที่สำคัญ มี sense of community อาการดีขึ้นเพราะตอนปลายปีได้งานแปลชิ้นใหญ่ ได้เงินก้อนจากช่วงก่อนหน้าที่รายได้ไม่ค่อยสม่ำเสมอมาหลายเดือน
อาการแย่เพราะอารมณ์ทางการเมือง เพราะวิทยานิพนธ์ที่ไม่เสร็จ เพราะเอาเวลาไปทำงานแต่ไม่มีเวลาแก้วิทยานิพนธ์ เพราะความสัมพันธ์กับแม่ที่ไม่ค่อยจะดีนักช่วงนั้น
ในที่สุด เดือนมกราคมปี 2564 เจ้าหน้าที่จาก CBT จุฬาก็โทรศัพท์มาหาฉันว่าถึงคิวแล้ว ฉันยังต้องการรับการบำบัดอยู่มั้ย โชคดีเหลือเกินสำหรับโทรศัพท์ในวันนั้น เพราะหนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้า ฉันเพิ่งกลับเข้าสู่ภาวะเดิม มือสั่น ใจเต้น วิตกกังวล ร้องไห้ ฉันตอบอย่างไม่รอช้าว่าต้องการ
ประมาณหนึ่งอาทิตย์ให้หลังฉันก็ได้เจอกับ “น้องมิ้น” นักบำบัด
การบำบัดระยะเวลา 6 เดือนกว่าๆ จึงเริ่มต้นขึ้น
————————————————————————————–
หนังสือ Maybe You Should Talk to Someone ของ Lori Gottlieb เป็นบันทึกความทรงจำของคนเขียนซึ่งเป็นนักบำบัดที่ต้องไปหานักบำบัด
คนเขียนไปหานักบำบัดเพราะเลิกกับแฟน
หลังจากที่คบกับแฟนมาสองปีจนถึงขั้นวางแผนจะแต่งงานกัน อยู่ๆ แฟนซึ่ง Lori เรียกว่า “Boyfriend” ด้วย B ตัวใหญ่แบบไม่มีชื่อ ก็บอกกับ Lori ว่า เขาไม่อยากต้องอยู่ในบ้านที่มีเด็กไปอีก 10 ปี แต่ปัญหาก็คือ Lori มีลูกชายวัย 8 ขวบ ซึ่งอยู่บ้านเดียวกันตลอดสองปีที่ผ่านมา พูดแบบนี้ ณ ตอนนี้จะให้ Lori เข้าใจว่าอย่างไร
ตอนจบที่ไม่สวยพา Lori ไปหานักบำบัดในที่สุด ก่อนที่ Lori จะค่อยๆ เผยว่าจริงๆ มันมีองค์ประกอบอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมายที่ทำให้เธอเดินมาถึงจุดนี้
ผู้รับการบำบัดหลายคนที่มาหา Lori ก็มาด้วยจุดเริ่มต้นที่ต่างกันไป
John นักเขียนทีวีซีรีย์เจ้าของรางวัล Emmy มาเพราะคิดว่าทุกคนรอบตัวเป็น idiot
Rita วัย 69 ที่คิดว่าจะฆ่าตัวตายตอนอายุ 70 แต่ว่าอยากเดทกับผู้ชายอีกครั้งก่อนตาย
Julie วัย 33 ที่ค้นพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่รักษาไม่หาย อยากให้ Lori ช่วยบำบัดจนกว่าจะถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต
ทุกคนล้วนมาด้วยสาเหตุหนึ่ง แต่เมื่อพูดคุยลึกขึ้นรายละเอียดด้านอื่นๆ ของชีวิตก็ปรากฎออกมา ทุกคนต่างมีแพ็กเก็จชีวิตที่ถ้าให้เวลาค่อยๆ แกะไปทีละนิดก็จะเห็นว่าแต่ละคนห่ออะไรไว้ข้างใน
—————————————————————-
น้องมิ้นน่าจะอายุประมาณ 20 ต้นๆ หรือ กลางๆ
น้องมิ้นดูไม่ได้มีประสบการณ์มากนัก แต่กลายเป็นว่านี่เป็นหนึ่งในลักษณะที่ฉันชอบในตัวน้องมิ้น น้องมิ้นทำอาชีพนักบำบัดอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ว่าเรียนประกาศนียบัตร CBT ที่จุฬาต่อ ทำให้น้องมิ้นต้องเก็บเคส
ฉันเองก็เป็นหนึ่งในเคสของมิ้น
โควิดทำให้ฉันไม่ได้มีโอกาสเจอมิ้นในสถานที่จริง เจอกันแค่ทางออนไลน์ แต่ฉันก็รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย
สิ่งสำคัญที่สุดที่มิ้นสร้างไว้ในพื้นที่ระหว่างการบำบัด คือ มิ้นปล่อยให้คิดเท่าไหร่ก็ได้ บางทีก็เงียบเป็นนาที มิ้นจะไม่เร่ง จะไม่รู้คำตอบก็ได้ มิ้นจะไม่คาดคั้น บางทีมิ้นก็งงและหลงประเด็นเล็กน้อยในความใหม่ แต่ว่าพอพื้นที่มันสบาย บทสนทนามันก็ไปต่อได้ แถมทุกครั้งมิ้นยังขอฟีดแบ๊คเสมอ
ช่วง 1-2 session แรก มิ้นบอกว่านำเคสของฉันไปปรึกษาอาจารย์ อาจารย์วินิจฉัยว่าเป็น anxiety disorder อยากให้กินยา แต่ฉันปฏิเสธเสียงแข็งจนกระทั่งมิ้นถามว่า “ถ้ากินยาแล้วมันจะเป็นยังไงเหรอคะ” มิ้นคงคิดถึง stigma กับผู้ป่วยที่กินยา แต่เหตุผลที่ตอบมิ้นไปก็คือ “ถ้ากินยาแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าฉันหายได้ด้วยตนเอง ฉันยังเชื่อมั่นว่าฉันหายได้ ขอลองก่อน”
อย่างไรก็ตาม พอได้คุยกันลึกๆ หลาย session มิ้นก็สรุปว่าฉันอาจจะไม่ถึงขั้นมี anxiety disorder แต่มี anxiety attack การพูดคุยกับมิ้นทำได้ตระหนักว่าฉันมี anxiety attack ในอดีตอยู่หลายครั้งเพียงแต่ไม่รู้ตัว รวมถึงมันไม่เด่นชันจนกลายเป็น pattern ที่จับได้แบบช่วงที่ไปหามิ้น
วิธีการของมิ้นที่รักษาเรียกว่า CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy
CBT ที่ฉันทำกับมิ้นเน้นการจับ “ความคิดลบ” (negative thoughts) ที่เกิดขึ้นในหัว ในช่วงแรกๆ ของการบำบัด ประโยคหนึ่งที่ฉันพูดบ่อยที่สุดจนมิ้นจับได้คือ “ชีวิตไม่ไปไหน” จนมิ้นถามว่า “แล้วชีวิตต้องไปไหนล่ะคะ” “ต้องทำอะไรถึงจะเรียกว่าชีวิตไปไหน”
“ชีวิตไม่ไปไหน” น่าจะเป็นพาร์ทใหญ่ที่สุดที่ทำให้ฉันต้องบำบัด เพราะฉันติดอยู่กับความรู้สึกว่าชีวิตต้องเร่งรีบ อยากให้ชีวิตมันได้เคลื่อนไปข้างหน้าโดยไว ฉันใช้เวลาตั้งสี่ปีกับปริญญาโทที่ฉันรู้สึกทั้งรักทั้งชัง นี่ฉันต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีหรือนี่ เพื่อนในวัยเดียวกับฉันเขาแต่งงานมีลูกได้เลื่อนตำแหน่งกันไปหมดแล้ว ฉันซึ่งเรียนช้าจะยังต้องใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยอยู่หรือนี่ ฉันควรจะจบได้แล้ว ฉันอยากมีความสัมพันธ์ ฉันอยากทำงานเต็มที่ ฉันปฏิเสธงานไปมากมายเหลือเกินเพื่อให้ทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้เสร็จ มันคุ้มแล้วหรือนี่ แต่ฉันก็คุยกับตัวเองไปแล้วว่าจะไม่เลิก เพราะมันรู้สึกเกือบเสร็จแล้ว อีกเพียงนิดเดียวเท่านั้น
ฉันไม่ใช่คนเดียวที่สุดท้ายต้องไปบำบัดด้วยเรื่องนี้
บทที่ 36 ในหนังสือ Maybe You Should Talk to Someone ชื่อว่า The Speed of Want ซึ่งเปิดด้วยการเล่าว่านักบำบัดที่กำลังเก็บชั่วโมงทุกคนอยากเร่งเก็บเคสให้เสร็จก่อนจะอายุเยอะไปกว่านี้ ยิ่งตัว Lori ซึ่งอยู่วัยสามสิบกว่าแล้วเพราะชีวิตเปลี่ยนเส้นทางมาหลายรอบ อายุ 28 เลิกทำงานเป็น executive ให้กับซีรี่ย์ Hollywood ชื่อดังอย่าง ER อายุ 33 ตัดสินใจเลิกเรียนหมอหลังจากเรียนมาสามปีเพราะทำงานเขียนกับเรียนพร้อมกันไม่ไหว อายุ 37 เลิกกับแฟนทั้งๆ ที่ตัวเองอยากมีลูกแล้ว ก็เลยตัดสินใจว่าจะมีลูกก่อน (ด้วยการหาโดเนอร์) แล้วค่อยเดททีหลัง (ชีวิตคุณ Lori นี่ก็สุดเก๋ทำให้คิดได้ว่าชีวิตคนเรานั้นหลากหลาย) จนสุดท้ายก็มาเลือกเส้นทาง psychotherapy
อาจารย์วัย 60 พูดสองอย่างที่สำคัญในบทนี้
อันแรก คือ “เดี๋ยวพวกคุณก็อายุ 30, 40 หรือ 50 อยู่ดี ไม่ว่าจะเก็บชั่วโมงครบหรือไม่ครบ อายุเท่าไหร่ตอนเก็บเคสครบสำคัญตรงไหน ยังไงพวกคุณก็ไม่ได้วันนี้กลับคืนมาอยู่ดี” (You won’t get today back.)
อันที่สอง คือ “เดี๋ยวนี้ความเร็วแสงมันล้าสมัยแล้ว ทุกวันนี้ทุกคนอยากเคลื่อนด้วยความเร็วตามสิ่งที่ต้องการ”
ความเร็วตามสิ่งที่ต้องการหรือ The Speed of Want (ฉันต้องการเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ โลกเปลี่ยนตามฉันด่วน!) นี่แหล่ะที่พาฉันไปหาน้องมิ้น หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ มองย้อนกลับไปฉันถึงได้ตระหนักว่าเพราะฉันไม่ได้ความเร็วตามที่ต้องการจึงเกิดอาการจิตตก เพราะ choice ที่ฉันเลือกในวัย 20 ปลายๆ ตอนตัดสินใจเรียนปริญญาโทไม่ตรงกับสิ่งที่ฉันต้องการในวัย 30 ต้นๆ
ฉันเปลี่ยนไปแล้ว แต่สิ่งที่ฉันเลือกไว้ไม่กี่ปีก่อนหน้ายังคงอยู่ มันเปลี่ยนตามฉันไม่ทัน
วิธีแก้มีสองทางคือ เดินออกมาซะ (เหมือนที่ Lori ทำกับงาน executive และการเรียนหมอ) หรือ อยู่จนจบ (ซึ่งเป็นทางที่ฉันเลือก)
ทั้งสองทางมีสิ่งที่ได้มาและราคาที่ต้องจ่าย แค่รายละเอียดแตกต่างกันไป
นอกจากเรื่องความคิดไม่ไปไหน มิ้นยังสอนให้ฉันสำรวจความคิดตัวเองอีกหลายเรื่อง เวลาที่เกิด “ความคิดลบ” แล้ว “คิดวน” อยู่กับความคิดลบนั้น ฉันควรต้องตั้งคำถามยังไงเพื่อจะสำรวจว่าสิ่งที่คิดนั้นจริงไม่จริง มีครั้งหนึ่งฉันเคยรู้สึกแย่ จากการที่น้องคนหนึ่งถูกชวนไปทำงานให้หน่วยงานหนึ่งที่ฉันสนใจ แต่พอมานั่งทำ CBT กับมิ้นแล้วถึงพบว่า การที่น้องคนนั้นได้งาน ไม่เกี่ยวอะไรกับฉันเลย ฉันเผลอคิดผูกโยงกับตัวเอง วิจารณ์ตัวเอง ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่ดีโดยไม่จำเป็น
มิ้นยังช่วยให้ฉันเห็นบริบทที่ฉันเติบโตมาว่าทำไมฉันถึงมี anxiety เยอะนัก You Should Talk to Someone ก็ยิ่งทำให้ฉันเห็นชัดไปอีกผ่านบทท้ายๆ ว่าฉันอยู่ในภาวะคล้ายที่ Rita และ Lori ประสบในบางที คือ ไม่กล้ามีความสุข เพราะกลัวว่ามีความสุขอยู่ดีๆ ก็จะเกิดเรื่องให้รู้สึกแย่ โดนพรากความสุขไปง่ายๆ จากอารมณ์ไม่มั่นคงของคนที่เลี้ยงมา (อันที่จริงคล้าย Lori มากกว่า ฉันไม่เคยเจอเรื่องขนาด Rita แต่ใดๆ ก็ตามนี่ไม่ใช่การแข่งขัน ประสบการณ์ชีวิตใครก็เป็นของคนนั้น ต่อให้เรื่องต่างกันแต่อารมณ์ที่เกิดอาจคล้ายคลึงกัน)
ตลกตรงที่เรื่องของ Rita ก็ทำให้ฉันตระหนักได้อีกประการหนึ่งว่า ต่อให้อายุ 70 ปัญหาที่เจอในชีวิตก็ไม่ต่างจากตอนนี้หรือในวัย 20 มากนัก ดังนั้น นี่คงเป็นภาวะที่ฉันน่าจะประสบเรื่อยๆ แถมตอนนี้ฉันยังรู้วิธีจัดการเหมือนที่ Rita เพิ่งค้นพบในวัย 70 งั้นฉันรู้สึกว่าปล่อยมันไปดีกว่า ไม่ต้องไปเร่งอะไร ไม่ต้องกลัว ถ้ามันจะมาก็ให้มันมา เหมือนกับสิ่งที่ฉันเพิ่งตระหนักได้ในช่วงสองสามเดือนมานี้ที่ชีวิตสงบขึ้นและสุขภาพจิตดีขึ้นมาก
“The only way to go through life is to go through it, one day at a time.”
“วิธีเดียวในการใช้ชีวิตก็คือการค่อยๆ ใช้ชีวิตไปทีละวัน”
————————————————————————————-
น้องมิ้นไม่ใช่นักบำบัดคนแรกในชีวิต
อย่างที่บอกว่าฉันเป็นคนจิตใจอ่อนไหว ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และไม่รู้วิธีจัดการหลายๆ ครั้ง ผลลัพท์ก็คือฉันจะ breakdown ทางอารมณ์เป็นพักๆ ยิ่งช่วงก่อนประจำเดือนมาฉันมีสิ่งที่เขาเรียกกันว่า PMS Depression หลายครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงนี้ฉันจะเริ่มใคร่ครวญว่าเราเกิดมาทำไม ชีวิตมีความหมายอะไรด้วยหรือ เหนื่อยกับการมีชีวิตอยู่จัง ตายตอนนี้เลยได้มั้ย ถ้าตามปกติหลังเมนส์มาสักสองสามวันความคิดพวกนี้ก็จะหายไป แต่ถ้าในช่วงที่อารมณ์อ่อนไหว ความคิดนี้อาจอยู่ถึงครึ่งเดือน
ความเศร้าและอาการที่จดจำได้มีคร่าวๆ ดังนี้
ช่วงอายุ 20 ฉันเคยเกิด panic attack ในห้องสอบวิชา Short Story
ช่วงอายุ 25 ฉันเคยนอนมองเพดานห้องร้องไห้ซึมเศร้าหดหู่ไม่อยากมีชีวิตอยู่
ช่วงอายุ 26 ฉันร้องไห้หยุดไม่ได้สองชั่วโมงจากกรณีอากงที่ตายในคุก
จำอายุไม่ได้ แต่ฉันเกิด anxiety attack ในตู้เสื้อผ้า เพราะไม่รู้ว่าจะเลือกชุดไหนใส่ไปทำงานดี รู้สึก overwhelmed ไปหมดจากตัวเลือกที่มี จนสุดท้ายก็ breakdown นั่งร้องไห้อยู่ในตู้
ช่วงอายุ 29 ฉันอยากออกจาก relationship แต่ตอนนั้นฉันรู้สึกว่าฉันรักผู้ชายมากจนออกไม่ได้ ฉันนอนร้องไห้เกือบทุกคืนจนไม่ไหวสุดท้ายต้องไปนักบำบัดเป็นครั้งแรก ตอนนั้นไปแค่ 1 session เขาเป็นแฟนของเพื่อน
ในปีเดียวกัน ฉันอยากออกจาก relationship เดิม ก็เลยนัดนักบำบัดจริงจังอีกหนึ่งครั้ง แค่ 1 session เช่นกัน หลังจากไม่กี่เดือนฉันก็รวบรวมความกล้า เอาชนะความอ่อนแอทางอารมณ์ แล้วก็เดินออกมาในที่สุด
ช่วงอายุ 31 – 32 ฉัน breakdown หลายครั้ง รวมถึงครั้งที่ปิดประตูร้องไห้สามชั่วโมง ฉันใช้บริการของนักบำบัดผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทเจ้าหนึ่ง แต่จริตนักบำบัดไม่ค่อยตรงนัก จึงหาอยู่สองครั้งแล้วเลิกไป ในช่วงเดียวกันฉันได้บำบัดฟรีจากการเข้าร่วมอ่านหนังสือเพื่องานวิจัยปริญญาเอกชิ้นหนึ่งในสาขาบำบัด
ช่วงอายุ 33 ฉันก็ยัง breakdown หลายครั้ง แม้ว่าจะอยู่ระหว่างบำบัดกับน้องมิ้น
ครั้งสุดท้ายคือสองเดือนก่อนอายุ 34 ถึงจุดหนักสุดในชีวิต ฉัน breakdown ร้องไห้หลังพิงกำแพง เพราะฉันไม่มีแรงพอที่จะยกขาข้ามสายไฟต่อคอมพิวเตอร์ได้ มองย้อนกลับไปสถานการณ์น่าขันสิ้นดี ฉันมีตัวเลือกมากมาย เช่น ดึงปลั๊กออก เดินอ้อมไปอีกทาง ฯลฯ แต่ตอนนั้นพอรู้สึกว่าต้องข้ามสายไฟ ฉันเหนื่อยเกินไป ฉันไม่อยากจะข้ามสายไฟอีกแล้ว ฉันไม่มีแรงยกขา ฉันจึงนั่งลงแล้วร้องไห้ฟูมฟายอยู่ข้างสายไฟนั้น
หลังจากเหตุการณ์เรื่องสายไฟวันนั้นตามด้วยระยะเวลาที่ฉันเรียกว่า ‘10 วันแห่งน้ำตา’ ไม่ว่าจะเจออะไรเล็กน้อยแค่ไหน ฉันจะร้องไห้ แม่พูดอะไรไม่เข้าหู ร้องไห้ พ่อกับแม่ไม่พูดดีๆ ใส่กัน ร้องไห้ ฟังเพลงในรถ ร้องไห้ เปิดคอมพ์ต้องเขียนงาน ร้องไห้ ความคิดแล่นในหัวก่อนนอน ร้องไห้ ฉันร้องไห้ติดกัน 10 วัน ทุกครั้งที่ร้อง ฉันรู้สึกว่าเพราะฉันสะสมความเครียดจนไม่ว่าอะไรก็รับไม่ไหวอีก ก่อนที่จะร้องไห้ฉันจะปวดหัว บางทีก็เครียดลงกระเพาะ
หลัง 10 วันนั้น ฉันเกิดสัจธรรมใหม่ในชีวิตว่าต้องใช้ชีวิต ‘ช้า’ ลง ฉันตัดสินใจไม่รับงานเพิ่ม จะทำแต่เพียงงานที่รับปากไปก่อนหน้าแล้ว ทุกงานใหม่ที่เข้ามาฉันส่งต่อให้เพื่อนหรือคนรู้จักหมด ฉันจะใช้เวลาทำวิทยานิพนธ์ ถ้าสมมุติว่าเขียนแค่สองชั่วโมงแล้วได้เนื้อหาเพียงพอ ฉันก็จะพอ เวลาที่เหลือฉันจะถือว่าเป็นเวลาพักผ่อน ฉันจะไม่คิดถึงวิทยานิพนธ์อีกในวันนั้น ฉันจะไม่อยู่ด้วยความรู้สึกผิดว่างานไม่เสร็จ ฉันหายใจยาวขึ้นและปล่อยความคิดลบไปกับการหายใจออกตามที่ฝึก Mindfulness ผ่าน Headspace ฉันจัดเวลาออกไปเดินที่สวนเกือบทุกวัน เดินวันละชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าฉันอยากได้ยินเสียงสิ่งรอบกาย ฉันอยากรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งรอบตัว ฉันไปยืนมองหอยทากเดินบนรั้วอิฐ มองแมวกระโดดข้ามรั้ว ฟังเสียงร้านอาหาร ฟังเสียงรถบดถนน ฉันไปเพราะรักตัวเอง ฉันยังอยากมีชีวิตอยู่ ฉันรู้ว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ ฉันจะไม่รอด แม้แต่ชีวิตฉันก็จะรักษาไว้ไม่ได้
สิ่งที่กู้ชีวิตฉันกลับมาในตอนนั้นคือ การบำบัดกับน้องมิ้น การฝึก Mindfulness กับ Headspace และ การออกไปเดินสวน
————————————————————————–
ฉันเรียกช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาว่าช่วง aftermath ฉันเรียนจบในที่สุด ย้ายออกจากคอนโด และเริ่มเฟสใหม่ของชีวิต ความเครียดฉันลดลงมาก จิตใจก็นิ่งเป็นส่วนใหญ่ ฉันพร้อมจะมีความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในชีวิต
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางวันที่ฉันตื่นมาพร้อม anxiety attack
แม้ความคิดลบหรือความคิดวนเวียนจะค่อยๆ หายไปจากหัว แต่มันก็แอบคืบคลานมาอยู่บ้าง บางวันที่ใช้ชีวิตไปแล้วเผลอเจออะไร trigger ก็อาจก่อให้เกิด anxiety attack ในวันรุ่งขึ้นได้
เดี๋ยวนี้เวลาที่เกิด anxiety attack ฉันจะนับลมหายใจเข้าออก (โดยช่วงหายใจออกที่ช่วยให้ปล่อยความคิดไปพร้อมลมหายใจได้) แล้วนับสิ่งรอบตัว 5 อย่างที่มองเห็น / 4 อย่างที่สัมผัสได้ / 3 อย่างที่ได้ยิน / 2 อย่างที่ได้กลิ่น / 1 อย่างที่ลิ้มรสได้
ฉันฝึกคอร์ส regret ของ Headspace เพื่อจะปล่อยความรู้สึก “เสียดาย 5 ปีที่ผ่านมา” หรือ resentment (ซึ่งไม่ใช่ความเสียดายที่ว่ารู้สึกไม่ได้อะไรจากการเรียนปริญญาโทเพราะได้ความรู้เยอะ แต่เสียดายในเชิงที่ว่ารู้จักตัวเองน้อยไปหน่อย น่าจะใช้เวลาเรียนสิ่งที่ตัวเอง feels more passionate about มากกว่านี้) Andy เจ้าของเสียงและเจ้าของ Headspace พูดดีมากว่า “บ่อยครั้ง regret คือการที่เราเสียดายหรือเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เรากลับไปแก้ไขมันไม่ได้ สถานที่เดียวที่เราแก้ได้ก็คือในหัวเรา” เดี๋ยวนี้ฉันเลยแก้ไขสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหัวน้อยลง เพราะก่อนที่จะเริ่มแก้เสียง Andy พูดประโยคนี้ก็จะลอยเข้ามา จากนั้นฉันก็จะหายใจออกเพื่อปล่อยให้ความคิดอยากแก้มันออกไปพร้อมลมหายใจ
บางวันฉันก็ลูบหัวตัวเองแล้วบอกว่า “เก่งมากที่มีชีวิตอยู่”
ถ้าใครรู้สึกท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก หรือ แม้เพียงอยากเข้าใจตัวเองมากขึ้น การไปหานักบำบัดเป็นหนึ่งวิธีที่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง “บางทีเราก็ควรจะคุยกับใครสักคน”