รีวิว Human Acts โดย Han Kang แปลโดย Deborah Smith
January 28, 2022
หลังเหตุการณ์สังหารหมู่โดยรัฐฯ ชีวิตเหลืออะไร
Human Acts เป็นนิยายประเภทที่บังคับให้คุณต้องวางหนังสือลงระหว่างอ่านแม้อยากจะพลิกหน้ากระดาษต่อ ผู้เขียนไม่ปราณีกับจิตใจหดหู่ของคุณที่เกิดขึ้นระหว่างหน้ากระดาษ ไม่โอนอ่อนต่อเสียงถอนหายใจ ไม่ยอมต่อน้ำที่อาจจะหยดออกจากตาเมื่อคุณเสพชีวิตผู้คนที่บาดแผลของการสังหารหมู่โดยรัฐฯ ติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต
Human Acts เล่าเรื่องการสังหารหมู่ที่เมืองกวางจู (คยองจู – 경주) เมืองทางตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้ที่เกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในปี 1980 แม้เรื่องแต่งที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่เมืองกวางจูในปี 1980 จะมีอยู่มาก แต่ Human Acts นั้นโดดเด่น เพราะเลือกใช้ “ร่างกาย” เป็นตัวเชื่อมบททั้งเจ็ดของนิยายไว้ด้วยกัน
Human Acts เป็นนิยายที่มี Best of Both Worlds คือ แพรวพราวด้วยเทคนิคทางวรรณกรรม ภาษาที่มีสไตล์ และ เนื้อหาที่ละเอียดละออทางประวัติศาสตร์พร้อมขุดลึกอารมณ์ของมนุษย์ที่ต้องผ่านประสบการณ์โหดร้าย
ก่อนจะโน้มน้าวผู้อ่านว่าทำไมถึงพูดเช่นนี้ผ่านการสรุปเรื่องย่อ (สปอยล์) มีสองหัวข้อที่ชวนปูพื้นฐาน
มุมมองเชิงวรรณกรรม
เรื่องนี้เล่าจากมุมของใคร – ในเชิงการเขียนวรรณกรรมหรือเรื่องแต่ง มุมมองผู้บรรยายที่พบเห็นได้มีสามรูปแบบ
มุมมองแบบบุรุษที่ 1 (First Person Point of View) – เรื่องถูกเล่าผ่านตัวละครที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้บรรยายและ(มัก) เป็นตัวเอก (protagonist) ของเรื่องในเวลาเดียวกัน1 วิธีการบรรยายจะผ่าน “ฉัน” หรือ “I” วิธีเล่าแบบนี้จำกัดมุมมองของเรื่อง ทำให้เรารับรู้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นผ่านตัวละครเพียงตัวเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจจิตใจของตัวละครได้ลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่น นิยายเรื่อง The Hunger Games โดย Susan Collins ก็เล่าผ่าน “I” หรือ Katniss Everdeen ซึ่งเป็นตัวละครหลัก
มุมมองแบบบุรุษที่ 2 (Second Person Point of View) – เรื่องเล่าผ่าน “คุณ” เช่น “คุณเดินมาที่ห้องนอนก่อนจะแผ่ตัวลงบนเตียง คุณพยายามหลับตา แต่นอนไม่หลับ…” เสมือนคุณเป็นตัวละครหลักของเรื่อง วิธีนี้ไม่ได้ถูกใช้ในวรรณกรรมแพร่หลายนัก หลักๆ เพราะใช้ยาก เสี่ยงที่คนอ่านจะหมด suspension of disbelief2 สูง (ไม่เชื่อสิ่งที่วรรณกรรมเล่า)
มุมมองแบบบุรุษที่ 3 (Third Person Point of View) – เป็นการเล่าแบบให้ตัวละครเป็นบุรุษที่สาม เช่น เขา เธอ ชื่อคน He She It เป็นผู้ดำเนินเรื่อง แต่ผู้เขียนมองเรื่องจากมุมสูง มี bird’s eye view ทำให้รู้มากกว่าที่ตัวละครรู้หรือรู้สึก มุมมองแบบบุรุษที่สามมีสองแบบคือ limited หรือมุมมองแบบจำกัด จะเล่าผ่านแค่ (หรือใกล้เคียง) สิ่งที่ตัวละครบางตัว (หรือหลายตัว) รู้หรือรู้สึก เช่น ทรายทะเลาะกับสองเสียงดังก่อนจะเดินหันหลังไปทั้งน้ำตา ทรายเจ็บปวดที่สองพูดจาทำร้ายทั้งที่ถือว่าสองคือเพื่อนสนิทที่สุด สองเองก็เช่นกัน เธอตัดสินใจที่จะไม่หันกลับมามองทรายอีก แต่หากใช้มุมมองอีกแบบ คือ omniscient หรือมุมมองแบบพระเจ้า ประโยคต่อไปอาจจะบรรยายว่า สองและทรายไม่รู้เลยว่าจะต้องใช้เวลาถึงสิบปีกว่าที่ทั้งสองจะได้เพียงสบตาอีกครั้งจากการทะเลาะกันครั้งนั้น ซึ่งในความเป็นจริงทั้งทรายและสองไม่อาจรู้อนาคตได้ แต่ผู้เขียนตัดสินใจสวมบทบาทพระเจ้า “playing god” เพื่อบรรยายอนาคตล่วงหน้าที่เกินสิ่งที่ทรายและสองรู้และรู้สึก มีนิยายจำนวนมากที่ใช้มุมมองบุรุษที่สามเช่น Harry Potter (ซึ่งน่าสนใจเพราะเล่มแรกๆ J. K. Rowling ใช้ omniscient แต่พอเรื่องยิ่งดำเนินไปก็ยิ่ง limited ขึ้นเรื่อยๆ)
เหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู (Gwangju massacre) ในปี 1980 โดยสังเขป
ปี 1979 เป็นปีที่ 18 ของการปกครองโดยเผด็จการทหาร ปาร์ก ชอง ฮี สมัยของประธานาธิบดีปาร์ก ชอง ฮี มีผู้ต่อต้านพอๆ กับผู้สนับสนุนจากการสร้าง “ปาฏิหารย์แห่งแม่น้ำฮัน” ที่ผลักเศรษฐกิจเกาหลีรุดหน้าถึงขีดสุด วางรากฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ยังทำเงินให้ประเทศมหาศาล เช่น ซัมซุง ฮุนได ฯลฯ (แชบอล) จนทุกวันนี้ ความยากจนที่เปลี่ยนเป็นความร่ำรวยเพียงชั่วเจเนอเรชั่นเกิดจากแรงงานที่หลังขดหลังแข็ง ไม่ได้รับสวัสดิการ ค่าแรงต่ำเตี้ย แม้ประเทศในภาพรวมจะรุดหน้า แต่ความไม่พอใจระบอบเผด็จการก็แทรกซึมอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะเมืองทางใต้อย่างกวางจู รอวันปะทุ
แล้ววันหนึ่งในเดือนตุลาคมปี 1979 ประธานาธิบดี ปาร์ก จอง ฮี ก็ถูกลอบสังหาร
วันที่ 26 ตุลาคม 1979 ระหว่างทานอาหารค่ำกับคนสนิทผู้เป็นหัวหน้าตำแหน่ง CIA ของเกาหลีใต้ ปาร์ก จอง ฮี ก็ถูกกระสุนยิงเข้าที่หัวจากคนสนิทผู้นั้น เสียชีวิตเกือบทันที เมื่อผู้นำเผด็จการอันยาวนานเสียชีวิต คนเกาหลีโดยเฉพาะนักศึกษาก็มีความหวังว่าประเทศจะเปิดกว้างขึ้น ประชาธิปไตยจะเบ่งบานขึ้น หากแต่ฝันก็ดับสลายอย่างรวดเร็ว เมื่อ ชอน ดู ฮวัน ผู้เป็นเสมือนลูกของ ปาร์ก จอง ฮี ก้าวสู่อำนาจผ่านการนำกองกำลังทหารเข้ายึดรัฐประหารในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ ชอน ดู ฮวัน อ้างว่ามีสายลับจากเกาหลีเข้ามาสอดแนมในประเทศ แล้วประกาศต่อ “กฎอัยการศึก” ในวันที่ 17 พฤษภาคม 1980 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ผลจากกฎอัยการศึกคือการสั่งปิดมหาวิทยาลัย ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง ห้ามสื่อรายงานข่าวที่เป็นปฏิปักษ์ ฯลฯ
นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติชอนนัมที่กวางจูไม่พอใจกับคำสั่งปิดจนรวมตัวได้กว่า 200 คนเพื่อประท้วงที่มหาวิทยาลัยในเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 รัฐบาลตอบโต้ด้วยการส่งพลทหารโดดร่มมาจัดการ การปราบปรามเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทหารทุบผู้ประท้วงบางคนด้วยปืนปลายดาบจนตาย ภาพความโหดร้ายที่เกิดขึ้นสุมไฟคนในเมืองและผู้พบเห็นจนทำให้ช่วงวันต่อๆ มาแนวร่วมขยายออกถึงหลักหมื่นคน ชาวเมืองเริ่มหยิบอาวุธเพื่อต่อสู้ ก่อนจะยึดเมืองไว้ได้แล้วผลักทหารล่าถอยในที่สุด แต่ชาวเมืองก็ตรึงได้เพียงไม่กี่วัน เมื่อกองทัพกลับเข้ายึดเมืองอีกครั้งและสานต่อการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้สมัยใหม่
ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกวางจูโดนปราบอย่างราบคาบทั้งทางร่างกายและอุดมการณ์ ตลอดการปกครองภายใต้ชอน ดู ฮวาน การลุกฮือในครั้งนี้ถูกตราหน้าว่าเป็น “การก่อความไม่สงบ” หรือกบฎที่เอาใจฝักใฝ่เกาหลีเหนือ รัฐรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 170 คน แต่มีผู้ประเมินว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 600 – 2,300 คน ซึ่งยังไม่รวมผู้สูญหาย ผู้บาดเจ็บ และผู้ที่โดนจับ
สรุป Human Acts
Human Acts มีชื่อภาษาเกาหลีว่า 소년이 온다 หรือแปลได้ว่า “เด็กผู้ชายคนนั้นมาแล้ว” แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 บท ซึ่งแต่ละบทร้อยเรียงกันผ่านการบรรยาย “ร่างกาย”
บทที่ 1 The Boy (1980) – เล่าผ่านมุมมองบุรุษที่สอง หรือ “You” เมื่ออ่านไปสักพักนักอ่านจะเรียนรู้ว่า You ไม่ใช่ “นักอ่าน” โดยตรง3 แต่เป็น “คัง ดง โฮ” เด็กนักเรียนมัธยมปลายมาตามหาเพื่อนที่ชื่อ “จองแด” ซึ่งพลัดหลงกันระหว่างทหารเข้าปราบฝูงชนในตัวเมืองกวางจูที่สำนักงานจังหวัด สถานที่ซึ่งร่างไร้ชีวิตถูกทยอยส่งมาเรียงเพื่อให้ญาติได้มาตามหา ระหว่างเดินหาจองแด ดงโฮได้พบกับ จินซู นักศึกษามหาวิทยาลัย อึนซุก นักเรียนมัธยมปลาย และ ซอนจู สาวโรงงาน ดงโฮจับพลัดจับผลูเป็นอาสาสมัครประจำอยู่ที่สำนักงานจังหวัด ท้ายบทแม่ของดงโฮมาตามให้ดงโฮกลับบ้านเพราะกองทัพกำลังจะบุกเข้าเมือง ซึ่งดงโฮสัญญาจะกลับไปกินข้าวเย็นตอนหกโมงเย็น บทนี้แนะนำตัวละครต่างๆ ซึ่งต่อไปกลายเป็นตัวเอกในแต่ละบทของนิยายเล่มนี้
บทที่ 2 The Boy’s Friend (1980) – เล่าผ่านมุมมองบุรุษที่หนึ่ง “I” ซึ่ง “I” ในที่นี่ก็คือ จองแด เพื่อนที่ดงโฮออกตามหา ซึ่งตอนนี้กลายเป็น “ศพ”4 ที่นอนเป็นรูปไม้กางเขนสลับกับร่างของศพอื่นๆ จากการถูกปราบปราม จองแดใคร่ครวญว่าควรจะไปหาใครก่อนที่ร่างกายจะถูกเผา พี่สาว? คนที่ฆ่า? หรือดงโฮ? แต่ขณะที่เพลิงสีส้มกำลังแผดเผาร่างกายที่ตั้งเป็นกอง จองแด ก็เกิดนิมิต ณ ตอนนั้นว่า ดงโฮ ถูกฆ่าตายเรียบร้อยแล้ว
บทที่ 3 The Editor (1985) – เล่าผ่านมุมมองบุรุษที่สามแบบจำกัดผ่านสายตาของ อึนซุก อาสาสมัครจัดการศพในสำนักงานจังหวัดบทที่หนึ่ง ที่ตอนนี้ทำงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงโซล ณ เวลาสี่โมงเย็นวันพุธในฤดูหนาว อึนซุกโดนตบทั้งหมด 7 ครั้งโดยเจ้าหน้าที่สอบสวนที่ตามหานักแปลซึ่งโดนกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติที่หายไป บทนี้ตามติดอึนซุกว่าเธอใช้วันแต่ละวันเพื่อลบเรือนรอยตบแต่ละรอยทั้งหมด 7 วันอย่างไร หนึ่งในรายละเอียดที่ใจสลายที่สุดของบทเกิดในรอยตบที่ 6 เมื่ออึนซุกรำลึกกลับไปสมัยที่เธอยังอยู่กวางจูแล้วโทรตู้หยอดเหรียญหาสำนักงานจังหวัดทุกวันเพื่อบอกให้ปิดน้ำพุหน้าสำนักงาน เธอไม่เข้าใจว่าน้ำพุที่ครั้งหนึ่งเคยไหลเป็นเลือดของผู้ประท้วงในกวางจูยังยังเปิดให้ไหลได้ยังไง
บทที่ 4 The Prisoner (1990) – เล่าผ่านทั้งมุมมองบุรุษที่หนึ่ง “I” หรือ จินซู นักศึกษาในบทที่หนึ่ง และมุมมองบุรุษที่สอง “You” ซึ่งเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มาหาข้อมูลเพื่อทำงานวิจัยเรื่องการสังหารหมู่กวางจู หลังเหตุการณ์ทหารจับผู้ประท้วงจำนวนมากขังคุกก่อนจะเลือกสุ่มปล่อยครึ่งหนึ่ง จินซูอยู่ในครึ่งที่ไม่ถูกปล่อย เขาโดนซ้อมทรมานจนรู้สึกว่าร่างกายแทบไม่ใช่ของตัวเองอยู่ในคุกถึงสองปีก่อนได้รับอิสรภาพ เวลาผ่านไปจินซูออกมาประกอบอาชีพกลายเป็นคนขับรถแท็กซี่ พบปะกินเหล้ากับคนที่เคยอยู่ร่วมคุกอีกหนึ่งคนอยู่บ่อยครั้ง ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด
บทที่ 5 The Factory Girl (2002) – เล่าผ่านทั้งมุมมองบุรุษที่สอง “You” และ “I” ซึ่งทั้งสองมุมมองคือ ซอนจู สาวโรงงานเย็บผ้าจากบทที่หนึ่ง (ไม่รู้คนเขียนจงใจหรือไม่ แต่ You ในบทนี้มีเซนส์ของ You ที่เวลาเราพูดถึงตัวเองในฐานะคนอื่นแบบบุรุษที่สาม มากกว่าที่จะเป็น You แบบคุณตรงๆ) บทนี้แบ่งออกเป็นสามมิติ คือ สิ่งที่จำได้ (you remember) เหตุการณ์ต่อต้าน (up rising5) เล่าผ่าน I และ ปัจจุบัน (now) เล่าผ่าน You ในบทนี้ศาสตราจารย์ (น่าจะ) คนเดิมจากบทที่ 4 พยายามติดต่อขอข้อมูลจากซอนจู ให้ซอนจูซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มที่เรียกร้องความเท่าเทียมให้แรงงานหญิงช่วยอัดเสียงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนประท้วงที่กวางจูให้ฟัง
บทที่ 6 The Boy’s Mother (2010) – เล่าผ่านบุรุษที่หนึ่งผ่าน “I” ในสไตล์ Soliloquy หรือบทรำพันความในใจของตัวละคร แม้เหตุการณ์จะผ่านไป 20 ปีแล้ว แม่ของดงโฮก็ยังต้องหาวิธีจัดการกับความเศร้าที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียลูกชายในกวางจู ฉากที่ใจสลายที่สุดฉากหนึ่งเป็นตอนที่ แม่รำลึกถึงเหตุการณ์วันเกิดเหตุ เมื่อเข็มนาฬิกาเลยหกโมงเย็นและดงโฮยังไม่กลับมาทานข้าวเย็น ทหารเริ่มบุกยึดเมืองพร้อมประกาศเคอร์ฟิว เธอกับลูกชายคนรองตัดสินใจกลับไปตามหาดงโฮที่สำนักงานจังหวัดก่อนจะพบว่าทหารตั้งการ์ดอยู่หน้าประตูแล้ว ทหารบอกว่าถ้าเข้าไปแล้วจะไม่สามารถกลับออกมาได้อีก แต่ลูกชายคนรองของเธอก็ดึงดันจะเข้าไป เธอเลยต้องตัดสินใจว่าจะเลือกลูกชายคนไหน สุดท้ายเธอสั่งห้ามลูกชายคนรองพูดว่า “ดงโฮสัญญาแล้วว่าจะกลับมา เดี๋ยวพอได้โอกาสก็จะกลับออกมาเอง…”
บทที่ 7 Epilogue: The Writer (2013) – บทนี้เซอร์ไพรส์คนอ่านด้วยเรื่องของนักเขียนเอง นักเขียนเป็นชาวกวางจู ตอนเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่มีอายุ 9 ขวบ นักเขียนโตมาท่ามกลางบทสนทนาของผู้ใหญ่จากประตูที่ปิดและเสียงกระซิบที่ลอดออกมาผ่านร่องว่า “เด็กคนนั้นใช่ลูกชายเธอหรือเปล่า” คนเขียนเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่มีคนขุดศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ยิมโรงเรียน (ถ้าอ่านเข้าใจไม่ผิด) ดงโฮคือหนึ่งในชื่อของผู้เสียชีวิตที่ผู้เขียนไม่รู้นามสกุลจากการศึกษาเหตุการณ์ผ่านเอกสารประวัติศาสตร์ที่ตายเมื่ออายุ 15 ปี
เชิงอรรถ
1 ไม่จำเป็นว่าผู้บรรยายต้องเป็นตัวเอกเสมอไป อย่างในเรื่อง The Great Gatsby ของ F. Scott Fitzgerald ผู้บรรยายคือ Nick เพื่อนบ้านที่เพิ่งย้ายมาอยู่ข้างคฤหาสน์ของ Gatsby แต่ตัวเอกของเรื่องอาจเถียงได้ว่าเป็น Gatsby ไม่ใช่ Nick
2 suspension of disbelief คือ การที่ผู้อ่านยอมเชื่อทุกอย่างตามเรื่องเล่า แปลตรงตัวคือเอาความ disbelief (ควาไม่เชื่อ) ไป suspend (แขวน/ผูก) ไว้
3 อย่างไรก็ดีคิดว่าสิ่งที่เขาต้องการให้นักอ่านรู้สึกก็คือ ให้เราเป็นดงโฮ ตลอดเรื่อง ดงโฮ จะถูกเรียกเป็น “คุณ” หรือ You ที่โผล่มาทุกบทจนกระทั่งบทสุดท้าย
4 ตรงนี้ตอนอ่านสตันท์มากๆ คนเป็นเล่าผ่าน you แต่คนตายเล่าผ่าน I เกิดเป็นแว่บหนึ่งขึ้นมาเลยว่านับถือนักเขียนมากๆ เป็น master of point of view สุดๆ
5 ตรงนี้ภาษาอังกฤษเขียน up แยกกับ rising น่าจะมีการเล่นคำจากภาษาเกาหลีบางอย่าง
อ้างอิง
Han Kang. Human Acts. 2020. Translated by Deborah Smith.
Harry Bingham. Point of View in Fiction Writing. https://jerichowriters.com/points-of-view-in-fiction-writing-with-plenty-of-examples/
มุมมอง : คู่มือในการเลือกทุกมุมมอง พร้อมตัวอย่าง – Point of View The Ultimate Guide. https://porcupinebook.com/literature/point-of-view/
Gwangju Uprising. https://en.wikipedia.org/wiki/Gwangju_Uprising
Park Chung-hee. https://en.wikipedia.org/wiki/Park_Chung-hee
ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ในช่วงเวลารอยต่อปาร์คจองฮีต่อชอนดูฮวานอื่นๆ ที่เคยเสพ
The Secret Sauce Ep. 484-485. เกาหลีใต้พัฒนาถึงจุดนี้ได้อย่างไร. https://www.youtube.com/watch?v=JYMfB5UjOKA
หลักสูตร Understanding Korean Politics โดย Moon Chung In. Coursera. https://www.coursera.org/learn/understanding-korean-politics
ภาพยนตร์เกาหลี The President’s Barber
รายการ All the Butlers จำชื่อตอนไม่ได้ แต่ว่าแขกรับเชิญพาไปดูรอยกระสุนที่กวางจู
หนังสือ The Birth of Korean Cool โดย Euny Hong แปลโดย วิลาส วศินสังวร