มาเล่น The Imitation Game กัน
September 9, 2020
ผู้เล่นคือ A, B และ C
คุณคือ C ที่ถูกแยกมาอีกห้องหนึ่ง แล้วคุณต้องสัมภาษณ์ A กับ B
เพื่อทายว่า A หรือ B ใครเป็นผู้ชายและใครเป็นผู้หญิง
งานของ A (ผู้ชาย) ในเกมนี้ คือ ทำให้ C (คุณ) ตอบผิด
งานของ B (ผู้หญิง) ในเกมนี้ คือ ทำให้ C (คุณ) ตอบถูก
A อาจจะเล่นเกมจิตวิทยากับคุณ คุณอาจจะถามว่า A คุณผมยาวเท่าไหร่ แล้ว A ตอบว่าผมฉันสั้นเหมือนผมบ๊อบ ยาวประมาณ 9 นิ้ว แน่นอนว่า A ไม่ได้โกหก แต่เลือกใช้คำที่ทำให้คุณนึกถึงผู้หญิง
คุณคิดว่าถ้าคุณเป็น C คุณจะทายถูกสักกี่ครั้ง
แต่เดี๋ยวก่อน ถ้า A ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นคอมพิวเตอร์ล่ะ คุณคิดว่าคุณจะทายถูกเท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิมบ้างมั้ย
นี่คือ เกมที่ Alan Turing (1912) เรียกว่า “The Imitation Game” ในบทความที่ชื่อ
Computing Machinery and Intelligence (1950)
มันเป็นเกมที่เอาไว้ตอบคำถาม “Can machine think?” เครื่องจักรคิดได้มั้ย
แต่อันที่จริง Turing บอกว่ามันไร้สาระที่จะถามแบบนี้ เพราะแน่นอนว่าถ้าคุณถามว่าเครื่องจักร “คิด” ได้ ในเซนส์เดียวกับที่คุณเข้าใจว่ามนุษย์ “คิด” ได้หรือไม่ เครื่องจักรย่อม “คิด” ไม่ได้
คำถามที่ถูกต้องก็คือ เครื่องจักรสามารถเล่นเกมนี้ได้หรือเปล่า
มัน “ฉลาด” พอมั้ย
เราซึ่งกำลังอ่านสิ่งนี้ในปี 2019 นี่อาจจะดูเป็นคำถามเกี่ยวกับ AI ธรรมดา แต่สำหรับในปี 1950 Turing กำลังถามคำถามที่มาก่อนกาลเอามากๆ ในยุคนั้น คอมพิวเตอร์ที่ใช้ทั่วไป (general purpose computer) ยังไม่ถือกำเนิดเสียด้วยซ้ำ ซึ่ง Turing นี่แหล่ะที่เขาถือกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดต้นแบบของคอมพิวเตอร์แบบใช้ทั่วไปคนแรกของโลก ที่เรียกกันว่า The Turing Machine
ตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว Turing จินตนาการถึงดิจิตอลคอมพิวเตอร์ (imaginable digital computers) ที่ฉลาดมากพอที่จะเล่น imitation game ได้ดี เขาให้เราสมมุติ ว่าถ้าเรามีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่ดัดแปลงจนมีความจุมากพอ มีความเร็วมากพอ มีโปรแกรมที่ดีพอ มันจะสามารถเล่นเป็น B ได้ดีพอกับที่มนุษย์เล่น
ความคิดนี้เองที่ต่อยอดไปจนเกิด The Turing Machine หรือ ต้นแบบของคอมพิวเตอร์เอนกประสงค์ (Multi-general Purpose Computer) ที่พูดไปเมื่อสักครู่
ถ้าหากอยากรู้ว่าเครื่อง Turing ทำงานอย่างไรสามารถดูได้ที่คลิปนี้
https://www.youtube.com/watch?v=7TycxwFmdB0
ที่ประทับใจจนต้องเก็บมาเล่าก็เพราะว่า Turing ไม่ได้คิดถึงคอมพิวเตอร์ในฐานะเครื่องจักรที่ทำงานตามคำสั่งมนุษย์ไปเรื่อยๆ แล้ว “คิด” ได้แบบมนุษย์ แต่เขาคิดว่าเครื่องจักรมันสามารถ “แยกแยะ” ได้มั้ยต่างหาก
ความ “ฉลาด” ของเครื่องจักรมาจากความสามารถในการแยกแยะ
คอมพิวเตอร์นี้จะไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่ผลิตมาปุ๊ปฉลาดปั๊ปเหมือนมนุษย์ผู้ใหญ่ แต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสภาพเหมือนกับเด็กที่เกิดมาเพื่อเรียนรู้
Turing เรียกสิ่งนี้ว่า Learning Machine ซึ่งถ้ากลับคำนิดเดียวก็จะได้ Machine Learning ที่เราคุ้นหูกันอยู่ทุกวันนี้
ถ้าคอมพิวเตอร์เกิดมาเป็นเหมือนกับเด็กที่สามารถเรียนรู้ได้ เมื่อให้สภาพแวดล้อมที่ถูกต้องและการศึกษาที่ถูกต้อง คอมพิวเตอร์ก็จะสามารถฉลาดขึ้นได้เหมือนกับเด็กๆ
Turing บอกว่าสักวันหนึ่งจะเห็นคอมพิวเตอร์สามารถแข่งขันกับมนุษย์ในสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาอย่าง เกมหมากรุกได้
สำหรับเราที่แพ้หมากรุกคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่สมัย Windows 3.0 นั้น คำทำนายของ Alan Turing ถูกตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ถ้าใครจำได้ เพียงสองปีก่อนหน้านี้เองที่ AI สามารถเล่นชนะเซียนโกะที่เก่งที่สุดในโลกได้ การแข่งขันนี้เกิดขึ้นในปี 2017 แต่ Turing คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ปี 1950
67 ปีก่อนหน้า
Alan Turing กำลังจะไปอยู่บนแบงค์ 50 ปอนด์ของอังกฤษ
ชายผู้ครั้งหนึ่งเคยถูกรัฐบาลอังกฤษตัดสินว่าไม่ปกติเพราะเป็นเกย์ ต้องถูกบังคับให้กินยาที่เชื่อว่าจะรักษาความผิดปกติทางเพศ แต่แท้จริงทำให้ประสาทหลอนจนฆ่าตัวตายโดยการกินยาไซยาไนด์ในปี 1954 ด้วยวัยเพียง 41 ปี เพียง 4 ปีหลังจากที่ตีพิมพ์บทความ Computing Machinery and Intelligence ที่ตั้งคำถามซึ่งยังส่งแรงกระเพื่อมมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “เครื่องจักรสามารถคิดได้หรือไม่”
คำถามที่สั่นสะเทือนปรัชญาของปัญญาประดิษฐ์ที่มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านอย่างเนืองแน่น
ในตอนเปิดของหนังเรื่อง The Imitation Game ที่เล่าเกี่ยวกับชีวิตช่วงหนึ่งของ Alan Turing พนักงานสอบสวนตั้งคำถามกับ Turing ว่าสรุปเครื่องจักรคิดได้หรือไม่
Turing ถามกลับว่าเพียงเพราะ เครื่องจักรคิดไม่เหมือนคุณ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่คิด เพียงเพราะบางอย่างคิดไม่เหมือนคุณก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่คิด
มีตอนหนึ่งในบทความ Turing ถามเราว่า เพียงเพราะคอมพิวเตอร์ไม่สามารถตอบคำถามบางข้อ เช่น คุณคิดอย่างไรกับงานของ Picasso อย่างมี passion ได้เหมือนกับมนุษย์ เราในฐานะมนุษย์ควรจะหยิ่งทะนงตน รู้สึกดีกับตัวเองเสียจนยกตนข่มคอมพิวเตอร์หรือเปล่า
เพียงเพราะบางอย่างคิดไม่เหมือนเรา เขาจะต้องผิดหรือเปล่า
ตอนจบอันน่าเศร้าของชีวิต Alan Turing น่าจะเป็นคำตอบ
01/08/19
________________________________
อ้างอิง
A. M. Turing (1950) Computing Machinery and Intelligence. Mind 49: 433-460 https://www.csee.umbc.edu/courses/471/papers/turing.pdf
Turing Test. Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Turing_test
Morten Tyldum. The Imitation Game (film) (2014) See Less