รู้อะไรแล้วจะดู TENET รอบสองสนุกขึ้น (สปอยล์)

September 9, 2020

(เรื่องนี้ไม่ได้สร้างมาให้ดูรอบเดียวแน่นอน ก่อนจะตีตั๋วเข้าโรงรอบสอง เราเลยคิดว่าถ้าชวนคุยเรื่องพวกนี้น่าจะดูรอบสองได้เพลินขึ้น)

—————————————-

ฟิสิกส์ระดับ pop science

Entropy – เอนโทรปีคือ คอนเซปต์ที่เอาไว้อธิบาย เวลาน้ำแข็งละลาย หรือ วิปครีมในกาแฟละลาย เพราะพลังงาน (energy) แผ่ออกไปสู่ที่ที่มีพลังงานน้อยกว่า พูดแบบลดทอนคือ เอนโทรปีเป็นการวัดโครงแบบการแผ่ของพลังงานนั้น คอนเซปต์เอนโทรปีจึงทำให้เราเห็นของที่ร้อนมากกว่าแผ่ไปของที่ร้อนน้อยกว่า(1) ตรงนี้เอง เอนโทรปีจึงเป็นกฎแห่งฟิสิกส์ที่ทำให้เราคิดว่าเวลามีอยู่จริง เพราะว่าพลังงานเคลื่อนที่จาก A ไป B ดังนั้น ดังนั้นเราจึงสามารถแยกอดีตออกจากอนาคตได้ เพราะอดีตน้ำแข็งเป็นก้อน แต่ตอนนี้น้ำแข็งละลาย(2) ในสภาพแวดล้อมปกติที่ไม่มีตู้เย็น น้ำจะไม่กลับแข็งอีก อนาคตจะไม่กลับไปเป็นอดีต ดังนั้น จึงเหมือนว่าเวลาเดินไปข้างหน้าเสมอ

เอนโทรปี ≠ เวลา – ในโลกแห่งความเป็นจริง เอนโทรปีไม่เท่ากับเวลา แต่เป็น “ตัวบอกว่าเวลาเดินทางแบบลูกศร” (arrow of time) ไปทางเดียวไม่ย้อนกลับ(3) แต่ในหนังโนแลนคล้ายทำให้คนดูเข้าใจว่า เอนโทรปี = เวลา (ดังบทสนทนาที่ตัวเอก (The Protagonist) คุยกับนีล (Neil) ในโรงแรม) แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เหมือนจะอธิบายว่าสิ่งที่ย้อนกลับ (reverse – invert ในหนัง) คือ สิ่งของ ในขณะที่เวลายังไหลไปข้างหน้า มีแค่ของบางอย่างเท่านั้นที่ย้อนกลับ เช่น เรือ กระสุน ฯลฯ ..ไม่แปลกถ้างงกับสมการเวลาในเรื่อง เพราะนักฟิสิกส์ก็ยังตีโจทย์ไม่แตก – จนถึงทุกวันนี้นักฟิสิกส์ก็ยังงงว่าเวลาคืออะไรกันแน่(4) เวลาไม่ได้เท่ากันทุกที่อย่างที่เราเข้าใจ เวลาบนภูเขาเดินเร็วกว่าเวลาบนผิวน้ำทะเล สิ่งต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา แต่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปในเวลาของตัวเอง(5) เวลาไม่ได้อยู่ด้วยตัวมันเองแต่ต้องสัมพันธ์กับที่ว่าง (space) เหมือนเป็นผ้ายืด (fabric – คำนี้ที่ Neil จงใจพูดตอนท้าย) หรือสนามแรงโน้มถ่วง(6) หนักไปกว่านั้น ในโลกระดับควันตัมเวลาอาจจะไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำ เราไม่รู้จะแยกอดีตออกจากอนาคตอย่างไร สองสิ่งที่แย้งกันอาจเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น อนุภาคย่อยของอะตอมหมุนไปทางซ้ายพร้อมทางขวา(7) ถ้าเช่นนั้นอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็นเหตุเป็นผล เมื่อเหตุและผลเกิดได้เมื่อเวลาเดินเป็นเส้นตรงเท่านั้น

เอกภพที่หลากหลาย (มันคือ “ความจริง” ไม่ใช่ “โชคชะตา”) – ตอนสุดท้ายตัวเอกถามนีลว่า ถ้าไม่เรียกการพบกันของสองคนว่าโชคชะตา แล้วจะเรียกว่าอะไร นีลบอกว่ามันคือ “ความเป็นจริง” (reality) ก็เลยชวนให้คิดว่า โลกของ TENET อาจจะโลกแบบ Multiverse ที่ขยายแนวคิด many-worlds interpretation ที่ Everett และ Wheeler เคยเสนอ ถ้าใครจำแมวในกล่อง Schrodinger ได้ (ดูโพสต์ที่แล้วก็ได้) ในจักรวาลของ many-worlds interpretation นี่ แมวทั้งอยู่และตายใน “reality” คนละใบ(8) ดังนั้น การที่ตัวเอก กับ นีลเจอกันจึงเป็นความเป็นจริงที่เกิดในจักรวาลหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (มั้ง)

Oppenheimer – พรียา (Priya) เรียกนักวิทยาศาสตร์คนที่คิดค้น The Algorithm ว่าเป็น “Oppenheimer แห่งยุคที่เธออยู่” ถ้างั้น Oppenheimer เป็นใคร? Oppenheimer ศาสตราจารย์ฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัย Berkeley ที่ถูกเลือกให้เป็นผู้อำนวยการโครงการ Manhattan โครงการระเบิดคิดค้นระเบิดนิวเคลียร์ลับสุดยอดแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง Oppenheimer ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งระเบิดปรมาณู” ซึ่งครั้งหนึ่งเชื่อว่าจะทำลายล้างโลกทั้งใบได้(9) ดังนั้น สมญานามของนักวิทยาศาสตร์หญิงในอนาคตจึงสะท้อนว่าเป็นคนที่สามารถคิดค้นอาวุธที่สามารถทำลายล้างทั้งโลกได้เหมือนกัน (ซึ่งก็เป็นอาวุธทางฟิสิกส์เหมือนเดิมแต่เป็นการย้อนกลับ entropy ของทั้งโลก)

Grandfather Paradox (ปฏิทรรศน์คุณปู่) – จริงๆ อันนี้ก็ฟังเลคเชอร์จากนีลในหนังเป็นครั้งแรกแล้วมาหาข้อมูลต่อ แนวคิดนี้คือ Thought Experiment อันน่าปวดหัวว่าเราสามารถย้อนกลับไปทำบางสิ่งบางอย่างในอดีต โดยไม่ให้ส่งผลต่อปัจจุบันได้มั้ย(10) ถ้าสมมุติว่าเราย้อนเวลากลับไปฆ่าปู่ก่อนที่ปู่จะมีพ่อแล้วเราจะเกิดมาเพื่อไปฆ่าปู่ได้ยังไง(11) ทีนี้ในหนังมันมีองค์กรที่เชื่อว่า “เราจะเกิดมาได้” คือ ต่อให้เรากลับไปฆ่าปู่ เราก็ยังจะมีตัวตน ทีนี่มันก็มีนักฟิสิกส์ที่เสนอว่าทำได้ถ้าทำในเอกภพคู่ขนาน(12) (กลับไปอ่านอันบน) ซึ่งองค์กรในโลกอนาคตเชื่อก็อาจเชื่อแบบนี้ละมั้ง

——————————————

ศัพท์ทางวรรณศิลป์และวรรณกรรม

TENET – เป็นคำที่เรียกว่า พาลินโดรม (Palindrome) คือ วลีที่สามารถอ่านจากหลังไปหน้าและหน้าไปหลังแล้วมีความหมายเหมือนกันได้ ชื่อหลายชื่อในเรื่องก็อิงมาจากป้ายพาลินโดรมของ Sator Square หรือ Rotas Square ป้ายสองมิติพาลินโดรมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบ ปัจจุบันอยู่ในฝรั่งเศสและอิตาลี

Source: https://th.wikipedia.org/พาลินโดรม

SATOR (นามสกุลอังเดร) / AREPO (คำทำภาพเหมือนโกย่า) / TENET (ชื่อปฏิบัติการ) / OPERA (ชื่อภารกิจที่ฮอลแสดงดนตรี) / ROTAS (ชื่อฟรีพอร์ต)(13)

TENET ซึ่งเป็นพาลินโดรมสะท้อนให้เห็นปฏิบัติการที่ดำเนินจากทั้งอดีตไปอนาคต และอนาคตกลับมาปัจจุบันแบบพร้อมกัน (temporal pincer movement) T-E-N / T-E-Nรวมทั้งยังหมายถึงเลข 10 ที่ถูกใช้บ่อยครั้งในเรื่อง โดยเฉพาะ 10 นาทีตอนท้ายที่ดำเนินจากหน้าและหลังพร้อมกัน

ถ้าไม่ดูรอบสองคือจับไม่ได้เลย ว่าพรียาพูดคำว่า TENET เลยทำให้ตัวเอกรู้ว่าพรียาเป็นใคร

คำนี้ยังถูกเลือกใช้อย่างจงใจ เพราะ TENET แปลว่า “ศรัทธา/ความเชื่อของคนเฉพาะกลุ่ม”ตอนท้ายที่อังเดรโทรศัพท์มาในถ้ำ อังเดรพูดว่าเขาจะล้างโลกเพราะเขาไม่มี “ศรัทธา/ความเชื่อ” (belief) เหลืออยู่แล้ว แต่ตัวเอกยัง “ศรัทธา/เชื่อ” ซึ่งก็ตรงกับชื่อปฏิบัติการที่ตัวเองเป็นคนตั้งในอนาคต

The Protagonist – โนแลนสมเป็นอดีตนักเรียนวรรณคดีอังกฤษ เลือกให้ตัวเอกของเราไม่มีชื่อแล้วใช้ชื่อว่า Protagonist แทน ซึ่งเป็นคำที่หากเรียนวิจารณ์วรรณคดี แทนที่คนเขียนวิจารณ์จะพูดชื่อตัวเอก ก็จะเรียกตัวเอกว่า The Protagonist แทน ความหมายตรงตัวจากภาษากรีกโบราณหมายถึง “คนที่เล่นเป็นตัวเอก หรือ บทนำ” (one who plays the first part, chief actor)(14) ซึ่งโนแลนก็เอาเสียเต็มที่ เพราะเราแทบไม่รู้จักตัวละคร ไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ไม่เข้าใจจิตใจเท่าใดหนัก (ไม่แปลกที่โดนว่าหนักมากว่า underdeveloped) รู้ว่าเป็นตัวเอก และรู้ว่าเป็นคนมีหลักการ ไม่อยากให้คนบริสุทธิ์ตาย ไม่ทรยศองค์กร ต่อสู้เก่ง เพียงเท่านั้น

—————————————————–

เรื่องย่อหลายบรรทัด (สรุปพล็อต)

ในอนาคตอันใกลที่โลกเริ่มระบบนิเวศพังทะลาย (ecological collapse) (ถ้าใครจำบทภาษากวีที่อังเดรพูดได้ ประมาณมีไฟและน้ำท่วม) มีองค์กรหนึ่งเชื่อว่าวิธีที่จะยับยั้งไม่ให้ระบบนิเวศพังทะลายก็คือกลับไปสังหารคนในยุคที่ทำให้ระบบนิเวศพังทะลายเสีย (ก็คือยุคในหนัง) องค์กรนี้ก็เลยจ้างนักวิทยาศาสตร์พัฒนา The Algorithm กล่องดำที่จะหมุนกลับ entropy ของทั้งโลก แต่นักวิทยาศาสตร์คนนี้รู้ตัวว่านี่มันเหมือนแผนนิวเคลียร์พินาศโลกก็เลยแบ่ง The Algorithm เป็น 9 ส่วนซ่อนไว้ตามสถานที่และเวลาต่างๆ ในโลก (เหมือน Voldemort แบ่ง Horcruxes เป็น 7 ส่วน) พอองค์กรนี้รู้เข้าว่าโดนซ้อนแผน ก็เลยจ้างอังเดร เซเตอร์ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ The Algorithm ถูกซ่อน โดยส่งสัญญากับทองคำแท่งมาให้เพื่อให้ประกอบ 9 ส่วนนี้เข้าด้วยกันแล้วทำลายโลกในอดีตเสีย (Grandfather Paradox) แต่ทีนี้มนุษย์อีกกลุ่มซึ่งนำโดยตัวเอก (The Protagonist) ในอนาคตรู้เรื่องแล้วก็ยอมไม่ได้ ก็เลยจัดตั้งปฏิบัติการ TENET แล้วย้อนเวลากลับไปฟอร์มทีม ซึ่งในนั้นมีนีล (“years ago for me, years from now for you”) และตัวเองเพื่อมาสู้กับอังเดรและองค์กรลึกลับในอนาคต

——————————————-

เรฟหนัง (Film Reference)

The Matrix: ห้องแดงห้องน้ำเงินช่างชวนให้คิดถึง Red Pill, Blue Pill ใน The Matrix เสียจริงๆ ใน The Matrix นีโอต้องเลือกระหว่าง ยาสีแดง คือ “ความจริงอันไม่น่าพึงประสงค์” (unpleasant truth) และ ยาสีฟ้า คือ “ความไม่รู้เป็นลาภอันประเสริฐ” (remain blissful ignorance) (15) ปัญหาปรัชญาว่าเราควรอยู่แบบไม่รู้แต่เป็นสุขหรือทนทุกข์แต่รู้ความจริงดี ใน Tenet ย้ำประโยค “ความไม่รู้เป็นอาวุธ (กระสุน)” (“ignorance is our ammunition.” – ammunition ก็ใช้อย่างจงใจ สิ่งแรกที่เจอว่า inverted คือ กระสุน) อยู่หลายต่อหลายครั้ง หากย้อนกลับไปในอดีตที่เป็นห้องสีฟ้าจะไม่รู้ไม่ได้อีก การไม่รู้ในตอนต้นทำให้ตัวละครตัดสินใจบางอย่างจึงเป็นอาวุธที่สำคัญ ที่ทำให้ผลลัพท์เป็นอย่างที่เป็น

Casablanca (1942): ไม่อยากจะเชื่อว่าโนแลนจะเรฟหนังรักสุดคลาสสิคอย่าง Casablanca แต่ประโยคพูดคล้ายมากและบรรยากาศก็เหมือน ใน Casablanca ตัวละคร Humphrey Bogart พูดตอนจบว่า “Louis, I think this is the beginning of a beautiful friendship.”(16) โนแลนก็เอามาปรับให้สมกับธีมเรื่องให้นีลพูดว่าเป็น The End สำหรับนีล แต่เป็น The Beginning สำหรับตัวเอก

หนังโนแลนเอง

นี่ไม่รู้โนแลนจงใจมั้ยแต่เห็นกลิ่นอายของหนังโนแลนหลายเรื่องในอดีตกับเรื่องนี้

Memento – ย้อนจากหลังขึ้นหน้า

The Prestige – ตัวพระเอกมีสองร่างสามารถอยู่สองที่ในเวลาเดียวกัน(17)

The Dark Knight – แอนดรู เซเทอร์พูด “Look at me” ซึ่ง Joker พูดมาก่อน(18)

The Dark Knight Rises – ฉากสู้บนตะแกรงน้ำในถ้ำ

Interstellar – Time & Space ระบบนิเวศพังทะลายจนอยู่ไม่ได้ แต่อันนั้นหาดาวอยู่ใหม่ อันนี้ไปทำลายคนทำแทน We’ll always find a way จริงๆ

Inception – นี่สรุปตัวละครอยู่ในมิติ (แห่งเวลา) ไหน

สรุปแล้ว Tenet สำหรับเราเป็นหนังหลายฌอง (genre) มาก เป็นหนัง Sci-fi, เป็นหนังฮีโร่กู้โลก, เป็นหนังดราม่าครอบครัว, ที่สุดแล้วเป็นเสมือนหนังที่ทำจากวรรณคดีที่ต้องอ่าน/ดูมากกว่าหนึ่งรอบเพื่อทำความเข้าใจแล้วนั่งแกะปมไปเรื่อยเพื่อความเพลิดเพลิน

อ้างอิง

1) Phillips, Jeff. “What is entropy?” https://www.youtube.com/watch?v=YM-uykVfq_E Rovelli, Carlo. The Order of Time. 2019 (แปลโดย โตมร สุขปรีชา “ความลี้ลับของเวลา”) หน้า 36 – 38

2) @MrVop. นักฟิสิกส์พบวิธีการทำให้ “ลูกศรแห่งเวลา” เดินทางกลับทิศ. https://stem.in.th/tenet/

3) https://en.wikipedia.org/wiki/Entropy_(arrow_of_time)

4) Dance, Dylan J. Tenet Explained by a Physicist. https://www.youtube.com/watch?v=1LsoaeiyAoY&t=835s

5) Rovelli, Carlo. The Order of Time. 2019 (แปลโดย โตมร สุขปรีชา “ความลี้ลับของเวลา”) บทที่ 1

6) Rovelli, Carlo. The Order of Time. 2019 (แปลโดย โตมร สุขปรีชา “ความลี้ลับของเวลา”) บทที่ 4

7) TEDx Talks. Quantum Physics for 7 Year Olds | Dominic Walliman | TEDxEastVan. https://www.youtube.com/watch?v=ARWBdfWpDyc&t=498s

8)Becker, Adam. What is Real? The Unfinished Quest for the Meaning of Quantum Physics. 2018.

9) https://en.wikipedia.org/wiki/J._Robert_OppenheimerBecker, Adam. What is Real? The Unfinished Quest for the Meaning of Quantum Physics. 2018. Pg. 73.

10) BBCThai. นักฟิสิกส์เสนอใช้เอกภพคู่ขนานแก้ปัญหาเรื่องเดินทางข้ามเวลา. https://www.bbc.com/thai/features-50882939

11) Uyeno, Greg. What Is the Grandfather Paradox?. https://www.space.com/grandfather-paradox.html

12) BBCThai. นักฟิสิกส์เสนอใช้เอกภพคู่ขนานแก้ปัญหาเรื่องเดินทางข้ามเวลา. https://www.bbc.com/thai/features-50882939

13) Tangpanitan. อธิบาย-ไขปริศนา TENET ความไม่รู้คืออาวุธของคนดู. https://workpointtoday.com/puzzle-tenet-nolan/

14) https://en.wikipedia.org/wiki/Protagonist

15) https://en.wikipedia.org/wiki/Red_pill_and_blue_pill

16) Greatest Film Misquotes – Filmsite. https://www.filmsite.org/moments02.html

17 – 18) Stolworthy, Jacob. Tenet’s hidden Dark Knight, Inception and Prestige references, explained. https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/films/news/tenet-easter-eggs-inception-dark-knight-references-prestige-memento-a9690901.html

cr ภาพก่อนดัดแปลง: dailysabah.com

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *