โลกผ่านภาษาเขียนใน Out of Africa

September 10, 2020

Out of Africa (1937) (เป็นอัติชีวประวัติในแอฟริกาช่วง 1910s – 1930s ของ Karen Blixen บารอนเนสชาวเดนมาร์ค—เล่มเดียวกับที่เอามาทำหนัง แต่เนื้อหาต่างกัน) ช่างงดงาม พรรณาโวหารของคาเรนทำเสมือนย้ายเราไปอยู่ในแอฟริกา (เคนยา) เมื่อเกือบร้อยปีก่อน บางบทบางตอนที่บรรยายเกี่ยวกับชนเผ่า (หลักๆ คือชนเผ่า Kikuya) ชวนเปิดสามัญสำนึกให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากแบบที่คุ้นเคยโดยสิ้นเชิง

หนึ่งในนั้น คือ เรื่องการรับรู้โลก กับ ภาษาเขียน

ภาษา Swaheli ไม่มีภาษาเขียนจนกระทั่งคนขาวไปสร้างตัวเขียนให้ ดังนั้นในช่วงชีวิตที่คาเรนอาศัยอยู่ที่นั่น ชาวพื้นเมืองหลายคน (ที่แน่ๆ คือ เผ่า Kikuya ไม่รู้รวมเผ่าอื่นมั้ย) จะถือว่าสิ่งที่เขียนลงบนกระดาษเป็นความจริงอันศักดิสิทธิ์ซึ่งจะไม่ตั้งคำถาม ไม่ว่าสิ่งที่เขียนอยู่บนกระดาษจะไร้สาระแค่ไหน ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นประโยคเดียวกันในภาษาพูด ชาวพื้นเมืองจะบอกทันทีว่ามันไร้สาระ แต่ถ้าบันทึกลงเป็นภาษาเขียนเมื่อไหร่คือเป็นเรื่องจริงทันที

คาเรนยกตัวอย่างเด็กชาย Kikuya ในฟาร์มคนหนึ่งที่ได้จดหมายจากเพื่อน แล้วเพื่อนเขียนว่า “I have cooked a baboon” – ฉันทำลิงบาบูนเป็นอาหาร คาเรนก็บอกว่า caught a baboon มากกว่ามั้ง เพราะว่าคำว่า cooked กับ caught ในภาษา Swaheli มันใกล้กัน แต่เด็กคนนั้นฟังแล้วหน้านิ่วคิ้วขมวดทันที บอกว่าจะเป็นไปได้ไงว่าสิ่งที่เขียนลงบนกระดาษจะผิด “สิ่งที่อยู่บนกระดาษเนี่ยนะ“ คาเรนก็เลยถามว่าลองคิดดูว่าเราจะทำลิงบาบูนเป็นอาหารได้ไง ถ้าเพื่อนทำได้จริงต้องเล่าลงรายละเอียดแล้ว เด็กได้ฟังก็เคืองขุ่นกับคาเรนที่ไม่เชื่อข้อความในกระดาษแล้วพับกระดาษกลับใส่แนบตัวแล้วเดินหนีไป

คาเรนเล่าถึงอีกคนชื่อ Jogona ซึ่งชนะคดีเหนือคนจากเผ่า Nyeri ซึ่งเจ้าหน้าที่อ่านเอกสารตัดสินความ Jogona ก็เลยเก็บเอกสารนี้ไว้แนบตัวเสมอ โดยทำถุงหนังและสายห้อยคอเพื่อเก็บไว้ ทุกครั้งที่มีโอกาสก็จะขอให้คาเรนอ่านให้ฟัง มีครั้งหนึ่ง Jogona เห็นคาเรนขี่ม้ามาแต่ไกลหลังจากที่คาเรนหายไปนานเพราะป่วย เลยวิ่งกระหืดกระหอบไล่กวดมาเพื่อขอให้คาเรนอ่านให้ฟัง ทุกครั้งที่ได้ฟังสีหน้าก็จะปลื้มปลิ่ม คาเรนตีความว่าสำหรับ Jogona สิ่งที่เขียนบนกระดาษนั้นน่าอัศจรรย์เพราะมัน “ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา อดีตที่เคยยากเหลือเกินในการที่จะจดจำ อดีตที่ดูจะเปลี่ยนไปทุกครั้งเวลาที่นึกถึง แต่ว่ากลับถูกกักขังไว้ได้บนกระดาษ ตัวเขียนบนกระดาษเท่ากับชัยชนะเหนือกาลเวลาที่ถูกตรึงไว้ต่อหน้า Jogona กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ จะกลายเป็นเงาเลือนหายไปก็ไม่ได้”

อ่านแล้วชวนให้คิดว่าสิ่งที่น่าทึ่งมันคงไม่ใช่เทคโนโลยี เช่น ปากกากับกระดาษเขียน แต่เป็นการเปลี่ยน perception ในการเข้าใจโลกไปอย่างสิ้นเชิง การที่คนคนหนึ่งอยู่ๆ สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวลงมาเป็นบันทึกที่จะมีอายุชั่วระยะเวลาหนึ่งคง เป็นการก้าวข้าม boundary หรือ เพดานความคิดที่เข้าใจมาตลอดชีวิต ว่านอกเราจะสามารถเข้าใจโลกผ่านภาษาพูด เรายังเข้าใจโลกผ่านภาษาเขียนได้เช่นกัน แถมยังแม่นยำกว่า แปรเปลี่ยนน้อยกว่า อดคิดไม่ได้ว่ามันคนน่าทึ่งจริงๆ สำหรับคนที่ใช้ชีวิตมาถึงระยะหนึ่งแล้วเพิ่งรู้จักว่าโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่าการเขียนอยู่

อ้างอิง
Blixen, Karen. Out of Africa. 1937.

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *