เงินไม่ใช่เงินจนกว่าจะมีคน (มากพอ) บอกว่ามันเป็นเงิน (1)

October 8, 2020

มารู้จักประวัติศาสตร์ของ ‘เงิน’ กัน

เวลานึกถึง “เงิน” คุณนึกถึงอะไร? ใช่ธนบัตรใหม่กริบที่เพิ่งออกมาจาก ATM หรือเปล่า หรือเหรียญที่นอนอยู่ก้นกระเป๋า หรือตัวเลขในบัญชี แล้วเงินดิจิตอลแบบบิทคอยน์ล่ะใช่เงินมั้ย เงินที่เราคุ้นเคยและเห็นบ่อยยิ่งกว่าหน้าเพื่อนสนิทจริงๆ แล้วมีประวัติศาสตร์ที่สนุกและกระตุกสามัญสำนึกมาก เราจะพาคุณรู้จักประวัติศาสตร์ของ “เงิน” ผ่านหนังสือที่สนุกมากมากชื่อ Money: The True Story of A Made-Up thing (2020) ของ Jacob Goldstein

ประวัติศาสตร์มนุษย์เซเปียนหลายหมื่นปีไม่มีเงินแบบที่เราๆ เข้าใจ แต่มีระบบแลกเปลี่ยนตอบแทน (gift and reciprocity) หรือ ระบบบรรณาการ (tribute) คุณอาจจะเคยได้ยินว่าเรามีระบบบาร์เตอร์ (barter) ที่ใช้ของแลกของ แต่ว่าพอนักประวัติศาสตร์นักมานุษยวิทยาไปสืบหาหลักฐานว่าอีระบบบาร์เตอร์นี่มันเคยอยู่ที่ไหนในโลกก็ไม่มีใครพบเจอ ความเชื่อแพร่หลายที่คิดกันว่าเงินเกิดมาจากระบบบาร์เตอร์นั้นจึงอาจจะไม่จริง

ระบบแลกเปลี่ยนตอบแทนเป็นอย่างไร สมมุติคุณเคยได้เนื้อวัวมาจากนาย A เมื่อเวลาผ่านไปและโอกาสเหมาะสมคุณล้มหมูได้ คุณก็เอาหมูตัวนั้นเลี้ยงนาย A กลับ นาย A ก็จะรอโอกาสและเวลาเลี้ยงอะไรคุณคืนอีกหนึ่งครั้ง วนไปเรื่อยๆ แบบนี้ในหมู่บ้าน ส่วนระบบบรรณาการก็คือ การที่คุณส่งของทุกอย่างที่คุณผลิตได้เข้าส่วนกลาง แล้วส่วนกลางก็กระจายของบางส่วนกลับมาให้คุณ อาณาจักร Incas สร้างอารยธรรมอลังการโดยไม่ต้องใช้เงิน (หรือสิ่งที่เหมือนเงิน) เลย ส่วนกลาง (กษัตริย์และคนของกษัตริย์) จะบอกคุณว่าคุณต้องปลูกอะไร ทำอะไรส่งส่วนกลาง โดยจะมีคนจดบัญชีไว้ แล้วคุณก็จะได้ของคืนบางส่วน อารยธรรม Incas มีเงิน (silver) และทองเช่นกัน แต่เอาไว้บูชา ไม่ได้เอาไว้แลกเปลี่ยน  

ย้อนไปก่อนอารยธรรม Incas เล็กน้อยในดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อเมืองเริ่มกำเนิดขึ้นอย่างจริงจังสัก 5000 BC เงินที่ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าเกิดจากกระดาษจดหนี้ที่เรียกว่า IOU (หรือ I own you) งานเขียนชิ้นแรกของมนุษย์เท่าที่หลักฐานปรากฎไม่ใช่กวีรักรำพัน แต่เป็นเอกสารที่เขียนว่า มนุษย์ชื่อ xxx เป็นหนี้แกะหกตัวแก่มนุษย์ชื่อ YYY ซึ่งแทนที่มันจะเป็นใบแจ้งหนี้แบบที่เราคุ้นเคยในศตวรรษที่ 21 มันดันเอาไปแลกเปลี่ยนของได้ กลายเป็นต้นแบบแรกสุดของเงินในปัจจุบัน

พอเข้าสู่ยุคกรีกโบราณช่วง 600BC สมัยเริ่มมี นคร หรือ polis ใหม่ๆ กรีกเริ่มเป็นประชาธิปไตยแบบหยิบมือ (หยิบมือเดียวจริงๆ เพราะนับแค่ผู้ชาย ไม่นับผู้หญิง เด็ก ทาส) ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของกรีกชื่อ Lydia มีเหรียญที่เรียกว่า Electrum ทำจากสัดส่วนของเงินและทอง แต่ปัญหาก็คือ แต่ละเหรียญมันเล็กบ้างใหญ่บ้าง อยู่ๆ ก็มีคนฉลาดมากใน Lydia ปิ๊งออกมาว่า ให้ผสมสัดส่วนน้ำหนักของเงินและทองเท่าๆ กัน แล้วทำให้แต่ละอันน้ำหนักออกมาเท่าๆ กัน แล้วก็ปั๊มตราสิงโตลงไป เท่านี้ก็จะได้เหรียญเงินและทองที่สามารถใช้กันได้แพร่หลาย สังคมกรีกโบราณรับเอานวัตกรรมเพื่อนบ้านนี้มาใช้ทันที เพราะสังคมกรีกใหญ่เกินกว่าที่จะใช้ระบบแลกเปลี่ยนตอบแทน และเป็นประชาธิปไตยเกินกว่าจะเรียกเก็บบรรณาการ เหรียญเงินและเหรียญทองป๊อปปูล่าร์มากจนกลายเป็นสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนเสมือนเงินในปัจจุบัน เมื่อมันป๊อปในกรีกทีนี้มันก็ป๊อปไปทั่วโลก

สิ่งประดิษฐ์แห่งท้ายศตวรรษที่ 13 คือ เงินกระดาษ ในช่วงเวลานั้นมาโคโปโลเป็นประจักษ์พยานแก่นวัตกรรมที่ล้ำสมัยที่สุดในจีน ก็คือ คนในประเทศจีนใช้กระดาษแทนเงิน เมื่อเขาเดินทางกลับมาเล่าให้คนยุโรปฟัง คนยุโรปต้องเกาหัวแกรกๆ กระดาษสามารถแทนเงินได้เนี่ยนะ นี่มันนิยายหลอกเด็กหรือเปล่า มโนสำนึกว่ากระดาษใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของได้ช่างยากเกินเข้าใจ

จีนที่มีกระดาษ ระบบการพิมพ์ และเหรียญพร้อม เมื่อพ่อค้าในเสฉวนในปี 995 AD คิดถึงสิ่งที่คนในศตวรรษที่ 21 รู้สึกเป็นคอมมอนเซนส์ที่สุดว่าการถือโลหะตามน้ำหนักเท่าของวัตถุเพื่อไปซื้อของต่างๆ นั้นสิ้นเปลืองสุขภาพและปวดหลังสิ้นดี ทำไมคนถึงไม่เอาเหรียญที่ทำจากเหล็กมาฝากไว้ที่ฉัน แล้วฉันจะเขียนใบในกระดาษให้ว่าเธอมีเงินกับฉันอยู่เท่านี้ ระบบเงินกระดาษก็ดังเป็นพลุแตก ถ้ากระดาษใบนี้แทนเหรียญเหล็กอันแสนหนักได้ ทำไมไม่เอากระดาษใบนี้ใช้แลกเปลี่ยนซะเลย เศรษฐกิจจีนรุดหน้าแบบฉุดไม่อยู่ เพราะคนไม่ต้องแบกเกวียนใส่เหรียญโลหะข้ามภูเขาสามลูกเพื่อไปแลกสิ่งของอีกต่อไป

มันคือการปฏิวัติทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มากๆ ในปีช่วงปี 1200 จีนน่าจะเป็นประเทศที่รวยที่สุดและมีเทคโนโลยีล้ำหน้าสุด มาโคโปโลเห็นตำตาว่าเงินกระดาษและระบบเศรษฐกิจที่หมุนรอบเงินกระดาษทำให้ชีวิตคนดีขึ้น (ดีในที่นี้คือรวยขึ้น ซื้อของได้มากขึ้น แต่ชั่วโมงทำงานเท่าเดิม) ในชั่วชีวิตคนหนึ่งคนได้ นี่มันปาฏิหารย์  

แต่ช้าก่อนในปี 1215 เมื่อกุบไลข่านมายึดครองจีน แล้วตกหลุมรักนวัตกรรมเงินกระดาษนี้อย่างหัวปักหัวปำ ออกคำสั่งให้ทุกคนใช้เงินกระดาษที่ตัวเองผลิต (ใครไม่ใช้โดนตัดหัว) แต่เรียกว่ามันว่า “บัตรของขวัญสำหรับแลกสมบัติ” ลางร้ายหายนะของระบบเงินกระดาษก็เริ่มปรากฎ

ดังคำสมัยใหม่กว่าสมัยของกุบไลข่านกล่าวไว้ว่า “Absolute power corrupts absolutely” กุบไลข่านจะห้ามอกห้ามใจตัวเองได้นานแค่ไหนที่จะไม่ผลิตเงินกระดาษไปเรื่อยๆ จนเกินที่ตัวเองจะหาจ่ายคืนไหว คำตอบก็คือ ห้ามใจไม่ได้ เมื่อรบญี่ปุ่นแพ้ถึงสองครั้ง ด้วยความกระเหี้ยนกระหือรืออยากเอาชนะญี่ปุ่นในสงครามก็พิมพ์เงินกระดาษออกมาใหม่แบบมีเพียงรูป ไม่มีตัวอักษร ไม่มีตรารับรอง เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มหวั่นอกหวั่นใจแล้วไม่ยอมรับ “บัตรของขวัญ” นี้ บัตรของขวัญเริ่มแลกไม่ได้ เศรษฐกิจปั่นป่วน นับได้ว่าเป็นวิกฤติเศรษฐกิจจากเงินกระดาษครั้งแรก(มั้ง) ในประวัติศาสตร์

แต่ท้ายที่สุดเงินกระดาษก็ยังได้ไปต่อ บัตรของขวัญยังแลกของได้ กระดาษยังเป็นเงิน ต่อให้ไม่มีอะไรไม่มี ‘อะไร’ มาค้ำประกัน ‘อะไร’ ที่ว่าคือ โลหะ ทอง สิ่งของ วัว ฯลฯ อันที่จริงจะพูดว่าไม่มีอะไรมาค้ำประกันเลยก็ไม่ใช่วลีที่ถูกต้องหนัก เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ค้ำประกันคือ “ความเชื่อ” เพราะทุกคนเชื่อว่าบัตรของขวัญนี้เป็นเงิน เงินคือเงินเมื่อมีคนมากพอบอกว่ามันเป็นเงิน

แต่เดี๋ยวก่อน ประวัติศาสตร์ต่อนนี้มันแหม่งๆ ถ้าจีนรุ่งเรืองขนาดนั้นในปี 1300 ทำไมในปี 1900 จีนถึงโดนชาติตะวันตกทิ้งไม่เห็นฝุ่น อาจจะมีคำอธิบายมากมาย แต่หนึ่งในนั้นคือ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิงในปี 1368 ต้องการพาแดนมังกรกลับสู่อารยธรรมรุ่งเรืองโบราณที่ทุกคนพออยู่พอกินได้ตัวเอง กลับไปเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ทุกคนรักใคร่กลมเกลียว (คุ้นๆ ประเทศแถวนี้มั้ย) ก็เลยเอาเงินกระดาษ เอาระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ออกไปหมด เท่านั้นแหล่ะ จีนก็ได้กลับไปสู่ระบบแบบเก่าสมใจ แบบที่ทุกคนจนลง อดอยากเพิ่มขึ้น การ test-run  กระดาษเป็นเงินสำหรับจีนเมือหลายร้อยปีก่อนจึงสิ้นสุดลงเท่านี้

แล้วเงินมาเป็นเงินกระดาษแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร ตอนหน้าจะมาต่อกันที่ปี 1600s ในอังกฤษ

อ้างอิง

          Goldstein, Jacob. 2020. Money the True Story of a Made-Up Thing. Hachette Books. New York.

โน๊ตผู้เขียน: โดยส่วนใหญ่สรุปมาจากหนังสือ แต่บางช่วงบานตอนก็แต่งภาษาและตัวอย่างเอง เพื่อความใจที่ง่ายขึ้น

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *