เงินไม่ใช่เงินจนกว่าจะมีคน (มากพอ) บอกว่ามันเป็นเงิน (2)

October 12, 2020

การใช้เหรียญก้อนเงินก้อนทองซื้อของในศตวรรษ 1600s ที่อังกฤษช่างยุ่งเหยิง เพื่อจะวัดว่าเหรียญไหนมีค่ามากมีค่าน้อยก็ต้องช่างน้ำหนักเอา ลองคิดดู เมื่อส่งก้อนเงินจ่ายค่าขนมปัง ช่างขนมปังอาจจะหัวใสแล้วพูดว่าฉันขูดเงินนี้ออกนิดนึงดีกว่า เก็บรวมๆ กันไว้จะได้หลอมเป็นก้อนเงินก้อนใหม่ ก่อนจะส่งเหรียญเงินก้อนเก่าให้พ่อค้าน้ำตาล พอพ่อค้าน้ำตาลได้ก้อนเงินไปก็รู้สึกว่าน้ำหนักมันไม่เท่าที่คุยกันไว้ก็ทะเลาะกัน มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าในช่วงปี 1600s แทบจะไม่มีใครซื้อของหรือทำมาค้าขายโดยไม่ทะเลาะกันเลย

เนื่องจากโลหะเงินและโลหะทองมีจำกัด กว่าจะทำเหมืองขุดได้ก็นาน เงินที่ทำจากเงิน (silver) และทองมันไม่สามารถทำให้ทุกคนรวยขึ้นได้ เพราะเราไม่ได้มีเงินและทองพอสำหรับทุกคน การขาดเงินและทองจึงเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นกันจนชินตาในอังกฤษปี 1600s สังคมติดเพดานการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

อยู่ๆ ช่างทอง (goldsmith) ก็ปิ๊งนวัตกรรมสุดล้ำแห่งศตวรรษคล้ายกับที่พ่อค้าจีนในเสฉวนทำเมื่อหลายร้อยปีก่อน นวัตกรรมนี้กลายเป็นรากฐานการธนาคารมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมีคนรวยเอาเงินกับทองมาฝากไว้กับช่างทอง แล้วช่างทองก็ให้ใบรับฝาก (aka เงินกระดาษ) ไม่นานคนก็เริ่มเอาใบรับฝากนี้ไปใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของโดยตรง โดยไม่ต้องมาแลกเป็นทองก่อน ช่างทองเหล่านี้เริ่มให้คนกู้ยืมด้วยการออกใบฝากให้กับคนที่ไม่ได้มีเงินหรือทองอยู่จริง แต่สัญญาว่าจะเอาเงินหรือทองมาให้พร้อม ‘ดอกเบี้ย’ เมื่อครบกำหนด เพดานถูกทำลายแล้ว เงินที่เคยมีอยู่จำกัดไม่จำกัดอีกต่อไป

สิ่งที่ช่างตีทองทำก็เหมือนกับที่ธนาคารทำทุกวัน คือ การทำให้เงินก้อนเดียวกันอยู่หลายที่ได้ในเวลาเดียวกัน ลองคิดตาม สมมุติเราฝากเงิน 10 บาทในแบงค์ แบงค์เอา 10 บาทเราไปปล่อยกู้ คนกู้ 10 บาทแบงค์เอา 10 บาทไปปล่อยกู้ต่อ ที่นี้เงิน 10 บาทเราอยู่กี่ที่ นับหนึ่งในบัญชีของเรา นับสองอยู่กับคนที่กู้แบงค์ นับสามคนมากู้คนกู้แบงค์ สุดยอดนวัตกรรมแห่งระบบทุนนิยมคือสิ่งนี้เอง เราอาศัยความเชื่อใจระหว่างคนหลายๆ คน แล้วทำให้เงินมันเพิ่มพูนออกไปจากมูลค่าเดิม แต่ถ้าวันดีคืนดีทุกคนหมดศรัทธาในแบงค์หรือช่างทองแล้วมาขอถอนเงินพร้อมกันเล่า แบงค์ก็ต้องไปทวงคืนจากคนกู้ ซึ่งแบงค์อาจจะทวงได้หรือทวงไม่ได้ ระบบจะเริ่มสั่นคลอน (เหมือนกับวิกฤติที่เกิดในจีน) จะเกิดสิ่งทีเรียกว่า Bank Run ก็คือ คนแห่แหนไปถอนเงินพร้อมกัน

ในปี 1672 เกิดวิกฤติ Bank Run ครั้งใหญ่ในอังกฤษ เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์เป็นหนี้ช่างทองอยู่มากมาย แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งตัดสินใจไม่คืนเงินช่างทองเพราะจะมุบมิบเอาเงินไปทำสงคราม ทีนี่คนในลอนดอนก็แตกตื่น พากันเอาใบรับไปถอนเงินจากช่างทอง ซึ่งแน่นอนช่างทองไม่มีเงินพอให้ทุกคนถอน ช่างทองหลายคนล้มละลาย มีหลายคนถูกจำคุก มีคนหนึ่งหนีออกนอกประเทศไปเลย

ระบบ test-run เงินกระดาษล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งในอังกฤษ

อีกหลายสิบปีถัดมา ระบบเงินกระดาษได้เกิดใหม่อีกครั้งที่ฝรั่งเศสโดยชายสก็อตแลนด์ชื่อ จอห์น ลอว์ เมื่ออายุ 23 ปี ลอว์ต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมเพราะไปท้าดวลกับหนุ่มเจ้าสำราญชาวอังกฤษคนหนึ่ง การท้าดวลในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องประหลาด แม้จะมีการส่งเรื่องฟ้องร้อง แต่กษัตริย์ก็มักจะพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ที่ชนะ ว่ากันว่าครอบครัวของหนุ่มเจ้าสำราญผู้นั้นเรียกร้องจนกษัตริย์ไม่พระราชทานอภัยโทษ จอห์น ลอว์เลยต้องหนีออกจากอังกฤษแล้วหาเลี้ยงตัวเองผ่านทักษะที่เขาเก่งที่สุด ได้แก่ การเล่นพนัน

จอห์น ลอว์เดินทางทั่วยุโรปโดยได้เงินจากการชนะพนันไปเรื่อย (เขาไม่ได้เล่นมั่วๆ แต่เป็นเซียนคณิตศาสตร์ เขาใช้ความน่าจะเป็นคำนวณความเป็นไปได้ของไพ่ ทำให้ชนะมากกว่าแพ้) สถานที่หนึ่งในยุโรปที่ประทับใจเขาลืมเลือนคืออัมสเตอร์ดัม ลอว์ได้มองเห็นอัมสเตอร์ดัมร่ำรวยขึ้นก้าวกระโดด จากตลาดหุ้น จากนวัตกรรมทางการเงินสุดล้ำในสมัยนั้นได้แก่ ธนาคารกลาง (และมีดินแดนอาณานิคมในอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งสามัญสำนึกคนยุโรปส่วนใหญ่ในสมัยนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นการกดขี่) ธนาคารกลางเป็นแหล่งผลิตเงินที่เชื่อถือได้ให้ประชาชนใช้ เศรษฐกิจของเมืองจึงเติบโตได้มีเสถียรภาพกว่าที่อื่น

ลอว์พยายามจะขายไอเดียเรื่องการดำเนินเศรษฐกิจแบบอัมสเตอร์ดัมให้กับรัฐบาลสก็อตแลนด์ แต่ทว่าเขายังเป็นฆาตกรหนีการประหาร ลอว์พยายามจะขายไอเดียเดียวกันให้กับกษัตริย์ของออสเตรีย แต่ทรงไม่สนพระทัย จนในที่สุดลอว์ก็เจอคนที่พร้อมจะซื้อไอเดียของเขา สหายของเขาในฝรั่งเศส “ท่านดยุคออร์ลีน” บังเอิญว่าเมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนรัชกาล ท่านดยุดแห่งออร์ลีนผู้นี้ก็ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้มีพระชนมพรรษาเพียง 5 ขวบ เท่ากับว่าลอว์กำลังจะได้ทดสอบระบบทางการเงินครั้งใหญ่โดยมีผู้ที่อำนาจสูงสุดเป็นลำดับที่สองของฝรั่งเศสเป็นกองหนุน

ในปี 1694 รัฐสภาอังกฤษเพิ่งออกกฎหมายจำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ กษัตริย์เลยฉวยโอกาสจากนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุโรป ได้แก่ ธนาคาร หุ้น และเงินกระดาษ แล้วตั้งธนาคารแห่งหนึ่งขึ้นมาแล้วให้พระราชทานนามมันว่า Bank of England สิ่งแรกที่ธนาคารแห่งนี้ทำคือ ออกหุ้นเพื่อขายแก่ประชาชนทั่วไป ภายใน 11 วันแรก Bank of England ขายหุ้นได้เงินถึง 1.2 ล้านปอนด์ ลอว์ก๊อปปี้ไอเดียนี้มาแล้วตั้ง The Banque Generale ในบ้านของลอว์เองที่ฝรั่งเศส ตอนแรกหุ้นขายไม่ออก ไม่มีแม้สักคนที่อยากได้ จนกระทั่งเพื่อนสนิทของลอว์ ดยุคแห่งออร์ลีนส่งหีบใส่ทองจากโรงกษาปณ์ของวังไปอย่างเอิกเกริก เท่านั้นยังไม่พอ ในปีถัดมา ท่านดยุคออกคำสั่งให้ทุกคนจ่ายภาษีด้วยกระดาษที่ออกโดยธนาคาร เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับกระดาษที่ออกจากธนาคารของลอว์จึงกลายเป็นเงิน ลอว์กำลังจะกลายเป็นเศรษฐี

นอกจากเปิดธนาคารแล้ว ลอว์ยังได้สัมปทานผูกขาดการค้าฝรั่งเศสในมิสซิสซิปปี้ (Mississippi) ลอว์มีบริษัทลงทุนของตัวเองที่คนเรียกกันติดหูว่า Mississippi Company เพื่อดึงให้คนมาลงทุน ลอว์พยายามดึงให้คนที่เป็นเจ้าหนี้ของราชวงศ์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ทรงเที่ยวยืมเงินไปทั่ว แล้วออกพันธบัตรให้ประชาชนแทนหนี้พร้อมสัญญาดอกเบี้ย 4% แต่สุดท้ายราชวงศ์ก็จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง ลอว์อาสาให้คนฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าหนี้กษัตริย์มาแลกหุ้นของ Mississippi Company เช่นเคย ตอนแรกก็ไม่มีใครซื้อไอเดียลอว์ จนกระทั่งสหายเจ้าเก่าดยุคออร์ลีนเอาทรัพย์สินตัวเองมาลง ชาวฝรั่งเศสจึงเริ่มทำตาม สถานการณ์เริ่มไปได้สวย ชาวฝรั่งเศสที่ตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตั้งเมืองใหม่ของตัวเองในอเมริกาตามชื่อดยุคว่า นิว ออร์ลีน (ใช่ ไก่นิวออร์ลีนที่ทุกคนคุ้นเคยก็มาจากเมืองนี้แหล่ะ)

หลังจากนั้นลอว์เริ่มบูมจนฉุดไม่อยู่ The Banque Generale กลายเป็น The Banque Royale (หรือ The Royal Bank –ธนาคารหลวง) ที่สามารถพิมพ์เงินกระดาษเท่าใดก็ได้ตามที่กษัตริย์รับสั่ง ลอว์ได้สัมปทานขายยาสูบในฝรั่งเศส ลอว์ได้สิทธิ์เหนือกำไรของโรงกษาปณ์เป็นเวลา 9 ปี หุ้นของ The Banque Royale ขึ้นจาก 500 ปอนด์ฝรั่งเศสต่อหุ้นเป็น 3,000 ปอนด์ฝรั่งเศสต่อหุ้นภายในไม่กี่เดือน ลอว์เสนอที่ให้เงินกษัตริย์ยืมก้อนใหญ่เพื่อที่จะปลดหนี้ทั้งหมดของประเทศ ต่อมาไม่นานลอว์ก็ได้ดีลที่ใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจฝรั่งเศส คือ ธนาคารของลอว์มีอำนาจเก็บภาษีให้กษัตริย์ จะกล่าวว่าจอห์น ลอว์ คือเศรษฐกิจของฝรั่งเศสก็คงไม่ผิดนัก

คนอ่านกำลังรู้สึกว่าทุกอย่างดูไปได้สวยเกินไปหรือไม่? ถูกแล้ว ฟองสบู่กำลังจะแตก สถานการณ์ที่แท้จริงในรัฐนิวออร์ลีนส์นั้นย่ำแย่ ไม่มีการขุดพบเงินหรือทอง ไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน นิวออร์ลีนส์ไม่ผลิดอกออกผลอย่างที่ตั้งใจ วิธีการรับมือของลอว์นำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของจุดจบในที่สุด ลอว์ตัดสินใจกำหนดราคาตายตัวให้กับหุ้น Mississippi Company ที่ 9,000 ปอนด์ฝรั่งเศสต่อหุ้น (ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในตลาดหุ้นเล็กน้อย) คนแห่กันพามาขายหุ้นเพื่อแลกเงินกระดาษ เมื่อเงินกระดาษมีไม่พอแบงค์หลวงของลอว์จึงต้องพิมพ์เงินกระดาษไม่หยุด เมื่อเงินกระดาษมีมากไป ปัญหาก็ตามมาไม่หยุด สุดท้ายในเดือนพฤษภาคม 1720 ลอว์ออกคำสั่งตัดสินชะตากรรม เขาสั่งให้มูลค่าในเงินกระดาษเหลือครึ่งเดียว ถูกต้องแล้วแบงค์ร้อยในมือตอนนี้มีค่าแค่ห้าสิบ ฝรั่งเศสลุกเป็นไฟ

ดยุกแห่งออร์ลีนพยายามยกเลิกคำสั่งแต่ก็สายไปแล้ว ตอนนี้ความเชื่อมั่นในระบบเงินกระดาษแทบเป็นศูนย์ คนมาต่อแถวแลกเงินกระดาษกับเงินจริง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีเงินแท้พอสำหรับทุกคน ลอว์ถูกไล่ออกจากทุกตำแหน่ง ถูกจับขังในบ้าน จนสุดท้ายต้องหนีออกจากฝรั่งเศส ส่วนดยุกแห่งออร์ลีนตัดสินใจหยุดการทดลองทางการเงินครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนี่งในประวัติศาสตร์ด้วยการยกเลิกเงินกระดาษและธนาคารทั้งหมดแล้วกลับไปใช้ก้อนเงินกับก้อนทองเหมือนกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ระบบเงินกระดาษไม่ดีหรือเปล่า ทำไมถึงล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง? ปัญหาของเงินกระดาษก็คือมันผลิตได้ง่ายเกินไป ระบบเงินกระดาษจะเวิร์คได้ก็ต่อเมื่อมีส่วนผสมที่ลงตัว ได้แก่ การถ่วงดุลย์ระหว่างหลายฝ่ายที่มีอำนาจพอๆ กัน ทั้งฝั่งคนถือเงิน คนลงทุน คนผลิตเงิน และรัฐบาล ฝรั่งเศสในสมัยนั้นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้ว เมื่อ Absolute power corrupts absolutely จอห์น ลอว์ซึ่งเปรียบได้ว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดเป็นคนที่สามในประเทศจึงเถลิงอำนาจโดยไร้การถ่วงดุลย์ใดๆ นำมาซึ่งจุดจบอย่างรวดเร็วของเงินกระดาษในยุคสมัยนั้นในที่สุด

อ้างอิง

Goldstein, Jacob. 2020. Money the True Story of a Made-Up Thing. Hachette Books. New York.

โน๊ตผู้เขียน: โดยส่วนใหญ่สรุปมาจากหนังสือ แต่บางช่วงบานตอนก็แต่งภาษาและตัวอย่างเอง เพื่อความใจที่ง่ายขึ้น

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *