ทำไมอยู่ๆ ละครเกาหลีก็สนุกเกือบทุกเรื่อง?

January 31, 2021

ความเห็น

อยู่ดีๆ ละครเกาหลีแม่งก็โคตรดีเลยอ่ะ แบบดีทั้งอุตสาหกรรม” ในคืนธรรมดาที่นอนไม่หลับ อยู่ๆ เราก็คิดเรื่องนี้

คำว่า “อยู่ดีๆ นี้” ไม่ใช่เมื่อวานไม่สนุกแล้ววันนี้มาสนุก แต่ “อยู่ดีๆ” ในที่นี้คือ เทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน 10 ปีก่อน ที่ละครเกาหลีแม้จะสนุกก็ไม่หลากหลาย พล็อตเรื่องยังวนเวียน เรื่องที่สนุกตราตรึงมีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่

แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ กลับรู้สึกว่าหยุดดูละครเกาหลีไม่ได้เลย แม้แต่เรื่องที่ดังกลางๆ ไม่ได้เรทติ้งถล่มทลายมากก็ยังแตะมาตรฐาน ไม่นับพวกที่เรทติ้งถล่มทลาย การันตีความเข้มข้นหลากหลาย genre หรือ cross-genre จะเร้าอารมณ์ เปิดโลก พล็อตเฉือดเฉือน อย่าง The World of Married Couple หรือ Sky Castle ก็ดี ซาบซึ้งชีวิต ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรอย่าง Hospital Playlist หรือ Reply 1988 ทันยุคทันสมัยอย่าง Itaewon Class หรือ Start Up หรือ น่ารักจิกหมอน ฟินสายเสพย์ละครหวานอย่าง Goblin หรือ Crash Landing on You ก็ดี

บรรดาผู้เสพย์ละครเกาหลีทั้งหลายหาดูได้เรื่องต่อเรื่องต่อเรื่องจนตาแห้งตาแฉะต้องไปซื้อน้ำตาเทียมมาตั้งไว้ข้างจอ

เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น? ทำไมอยู่ดีๆ ละครเกาหลีถึงสนุกทั้งยวงแบบนี้? ถ้า 10 เรื่อง สนุกแค่เรื่องเดียวอาจยกความดีความชอบให้ผู้สร้างโดยง่าย แต่ถ้าสร้าง 10 เรื่อง สนุก 8 เรื่อง เราอาจต้องตั้งคำถามใหม่ว่านอกจากผู้สร้างจะเก่งแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นกับวงการละครเกาหลี?

วันนี้จะขอลองเดาคำตอบ

การเกิดขึ้นของช่องเคเบิลอย่างช่อง TVN และ JTBC สำคัญมากๆ ที่ช่วยทำให้ละครเกาหลีครีเอทีฟ มีเนื้อเรื่องแปลกใหม่ เมื่อก่อนเกาหลีมีละครอยู่ไม่กี่ช่อง เช่น KBS, SBS และ MBC ขอให้เปรียบช่องเหล่านี้เหมือนช่อง 3,5,7 ของไทยสมัยก่อน (หรืออาจจะสมัยนี้) ช่องเหล่านี้แม้จะผลิตละครต่อเนื่อง แต่คนสร้างอย่างผู้กำกับ คนเขียนบท ฯลฯ มี “creative control” ไม่เยอะ creative control ก็คือ “พื้นที่ในการสร้างสรรค์ของผู้ผลิตงาน” หรือพูดง่ายๆ เลยก็คือ ช่องปล่อยให้ผู้สร้างสร้างสรรค์น้อย ตัดสินใจได้น้อย

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดมากๆ คือ กรณีของผู้กำกับ นายองซอก (Na PD) แม้จะไม่ใช่ผู้กำกับละคร แต่ผกก. นา เป็นผู้กำกับรายการวาไรตี้ชื่อดังของเกาหลี เป็นคนที่คิดรายการอย่าง 2 Days 1 Night หรือ Grandpa Over Flower รายการม้ามืดที่พาคนอายุรุ่นคุณตาไปเที่ยวที่ดังถล่มทลายด้วยเรทติ้ง 2 หลักในสมัยที่ช่องเคเบิลทำเรทติ้งหลักเดียวก็ยากแล้ว ที่ยอมย้ายจากช่องธรรมดาไปอยู่กับ TVN ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องเงิน แต่เพราะว่า “ช่องเคเบิลยอมให้สร้างสรรค์ได้เยอะกว่า ทุกอย่างทำได้อย่างรวดเร็ว รายการจะอยู่รอดก็ต่อเมื่อคนดูชอบ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องลองอะไรใหม่ๆ

เมื่อปล่อยให้ผู้ผลิตได้แสดงศักยภาพ สักวัน The Next Big Thing มันก็ต้องเกิดขึ้น TVN ที่ก่อตั้งในปี 2006 เจอกับ big break ของวงการละครในปี 2012 จากละครเรื่อง Reply 1997 โดยผู้กำกับชิน วอน โฮ และนักเขียนบทอี วู จอง ซึ่งเคยอยู่ช่องธรรมดามาก่อน สองคนนี้คือคู่หูชื่อดังที่เป็นเจ้าของละครตระกูล Reply ทั้งหมด รวมทั้ง Prison Playbook กับ Hospital Playlist

ก่อนปี 2012 ละครจากช่องเคเบิลอย่าง TVN ได้เรทติ้งถึง 1% ก็ถือว่ามากแล้ว ขณะที่ช่องธรรมดาเรทติ้งละครที่ไม่สนุกเอาเสียเลยก็ยังได้ 7-8% หรือแตะ 10% มาได้ง่ายๆ แต่ Reply 1997 ที่เล่าเรื่อง ยุคแรกของการเป็นแฟนด้อมศิลปิน K-Pop ที่เต็มไปด้วยน้ำตาและเสียงหัวเราะก็มาสร้างประวัติศาสตร์ ฉายตอนแรกๆ ก็ยังมีคนดูไม่มาก แต่ผ่านไปก็บอกกันปากต่อปากต่อปากจนกลายเป็น hype ของเกาหลีในยุคนั้นในที่สุด ยุค 90s กลับมาฮิตอีกรอบก็ต้องให้เครดิตละครเรื่องนี้ ตอนจบของละครเรื่องนี้เรทติ้งขยับสูงไปถึง 7.55% เรทติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 2% กว่า ช่อง TVN จากที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นช่องผลิตละครรูปแบบที่ไม่มีใครทำมาก่อนเสียแล้ว

creative control ที่ให้ไป สัมฤทธิ์ผลในที่สุด

เวลาเป็นสิ่งสำคัญ TVN ก่อตั้งมาตั้ง 6 ปีกว่าจะมีละครแบบ Reply 1997 แต่ก่อนจะมีละครอย่าง Reply 1997 วงการบันเทิงเกาหลีก็เตรียมทุกอย่างไว้เกือบหมดแล้ว นักแสดงที่วัดกันที่ความสามารถ ประสบการณ์สร้างละครมาอย่างยาวนาน วงการบันเทิงที่มีความหลากหลาย และช่องทีวีใหม่ที่คนทำงานอายุเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 30 กว่า พอปัจจัยรายล้อมพร้อม สภาพแวดล้อมพร้อม วันใดวันหนึ่งก็จะมีใครสักคนที่จะสามารถสร้างงาน สร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่ออุตสาหกรรมได้

ละครทุกเรื่องที่ยกตัวอย่างไปตอนต้นเป็นของ TVN และ JTBC ทั้งหมด ไม่มีเรื่องไหนเป็นของช่องธรรมดาเลย

พอละครเรื่องหนึ่งฮิตขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือไม่ใช่การก๊อปคอนเซปต์ตามแบบที่วงการละครไทยชอบทำ แต่เป็นการมานั่งคิดว่าจะสร้างละครใหม่ๆ อย่างไรให้มันสนุกได้อีกบ้าง พอเรื่องที่สองสนุก เรื่องที่สามสนุก เรื่องที่สี่ ห้า หก ฯลฯ สนุก เวลาผ่านไปสักพักละครสนุกก็เต็มไปหมดเลย สนุกในที่นี้ คือ บทละครลื่นไหล มีมุมใหม่ๆ ของความเป็นมนุษย์ให้รู้จัก การแสดงดี โปรดักชั่นดี ทำให้คนรู้สึกอะไรบางอย่างได้ พอหันซ้ายก็ดี หันขวาก็ดี ก็เลยเกิดเป็นการแข่งขันกันที่คอนเทนต์จริงๆ ใครสร้างคอนเทนต์ดีกว่า สนุกกว่า ทำได้ถูกใจคนดูมากกว่าก็ชนะไป พอเป็นแบบนี้แล้ว ละครเกาหลีมันจะไม่สนุกทั้งอุตสาหกรรมได้อย่างไร

ขอย้อนกลับไปที่ creative control อีกครั้ง

เกาหลีเป็นหนึ่งประเทศที่อุตสาหกรรมบันเทิงมี creative control สูงมาก ไม่ใช่เฉพาะจากผู้บริหารช่องอย่างที่เล่าไป แต่จากรัฐบาล สำคัญมาก คือ รัฐยอมให้คุณใช้ศิลปะพูดถึงการเมือง สังคม วัฒนธรรมได้แค่ไหน ถ้ารัฐฯ เอะอะไม่ยอม จะพูดถึงอะไรก็อ่อนไหว ทำลายความดีงามของสังคมไปเสียหมด genre ที่มันหลากหลายไม่มีวันเกิดได้ วงการละครไม่ได้ธำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ได้อิทธิพลจากวงการหนัง ซึ่งเต็มไปด้วยหนังที่วิพากย์การกระทำของรัฐฯ ในอดีตอย่างเจ็บปวด อย่าง 1987: When the Days Come หรือ The President’s Barber ที่วิจารณ์ยุครัฐบาลทหารอย่างตรงไปตรงมา

ในวงการละครเองก็ไม่แพ้กัน หนึ่งในละครที่เรทติ้งสูงสุดตลอดการคือ ละครเรื่อง Sandglass (1995) ที่มีฉากความรุนแรงจากการปราบประชาชนที่กวางจู (Kwangju Massacre) ในทีวีสาธารณะเป็นครั้งแรกๆ คนบางคนตอนดูละครถึงกับช๊อค ไม่คิดว่าเรื่องต้องห้ามเช่นการที่รัฐปราบประชาชนจะพูดออกทีวีได้ จนท้ายที่สุดละครเรื่องนี้ถึงขั้นส่งอิทธิพลให้ นายพลเผด็จการชอน ดู วาน (ที่เป็นผู้ปราบคนในกวางจู) ต้องถูกลงโทษในอีกหลายๆ ปีให้หลังได้

ดังนั้น ต่อไม่ใช่ในสเกลที่วิพากย์ตรงๆ ระดับ Sandglass การเอาเจ้าหน้าที่รัฐมาเป็นตัวละครก็ทำได้หลากหลาย มีความเป็นมนุษย์สูง มีทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่ไม่ดี ผสมปนเปกันไป ลองคิดดูว่าละครแอคชั่นอย่าง Vagabond ถ้าแตะ Blue House (บ้านประธานาธิบดี – ในที่นี้หมายถึงการบริหารงานของประธานาธิบดี) ไม่ได้เลย เรื่องจะสนุกได้เท่านี้มั้ย แม้แต่ละครที่มีพล็อตแอคชั่นก็ยังต้องการยืมผู้มีอำนาจมาเป็นตัวละครแบบหลวมๆ สิ่งสำคัญคือเขาทำได้ แบบไม่ต้องคิดมาก เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของคนดูว่าสามารถแยกแยะได้

เมื่อทำสิ่งเหล่านี้ได้ creative space จึงกว้างใหญ่ไพศาลมากสำหรับผู้ผลิต จึงไม่แปลกเมื่อมีปัจจัยหลายๆ ด้านมารวมกัน วงการละครเกาหลีจึงมาได้ไกลถึงเพียงนี้

ยังไม่นับรวมการมาถึงของ Netflix ในยุคนี้ ที่เตรียมช่วยสร้างสิ่งใหม่ๆ และส่งออกละครเกาหลีอย่างเต็มตัว

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าวงการละครเกาหลีมีแต่ข้อดี วงการละครเกาหลีมีข้อครหามากมาย ทั้งใช้งานคนหนัก จ่ายเงินเดือนคนในกองน้อยกว่านักแสดง ผู้กำกับ คนเขียนบทหลายเท่า ฯลฯ แต่ถ้าวัดกันที่ความสนุก ก็ต้องยอมรับว่าละครเกาหลีนั้นสนุกจริงๆ

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/TVN_(South_Korean_TV_channel)

https://en.wikipedia.org/wiki/JTBC

https://en.wikipedia.org/wiki/Reply_1997

https://en.wikipedia.org/wiki/Na_Young-seok

https://en.wikipedia.org/wiki/Sandglass_(TV_series)

เครดิตภาพ: Netflix

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *