ยุคแอนโทรโปซีน, The Anthropocene Reviewed, ห่านแคนาดาและตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์

October 14, 2021

ขอเดาจากช่วงเวลาจวนเจียนจะหมดปี 2021 ว่า “แอนโทรโปซีน1” (Anthropocene) หรือยุคแอนโทรโปซีนจะเป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่ป๊อปปูล่าร์ที่สุดจนอาจกลายเป็นคำสามัญประจำบ้านในช่วงเวลาอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า2

ผู้คิดค้นคำนี้คือ ยูจีน เอฟ สตอร์มเมอร์ (Eugene F. Stoermer) นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ส่วนผู้ที่ทำให้คำนี้โด่งดังและให้นิยามตามที่เราเข้าใจกันแบบทุกวันนี้คือ พอล ครูตเซน (Paul Crutzen) นักเคมีชาวดัชต์ที่เสนอคำนี้ในงานสัมมนาวิชาการ ณ ประเทศเม็กซิโกปี 2000 (ซึ่งเป็นที่ที่ทั้งสองคนเสนอผลงานวิชาการเรื่อง Anthropocene ร่วมกัน)3

ไม่เลย ท่านทั้งหลาย เราไม่ได้อยู่ในยุคโฮโลซีนอีกต่อไปแล้ว…”

“เรากำลังอยู่ในยุคแอนโทรโปซีน4

โฮโลซีน (Holocene) คือยุคแห่งอากาศอบอุ่นคาดว่าเริ่มเมื่อ 11,700 ปีที่แล้วหลังจากยุคอากาศหนาวเย็นรอบสุดท้าย (Pleistocene) ได้ผ่านพ้น5 โดยเป็นยุคทางธรณีวิทยาอย่างเป็นทางการ (ที่ว่าเป็นทางการเพราะคณะทำงานการลำดับชั้นหินสากลุ6 รับรอง) ขณะที่คำว่า “แอนโทรโปซีน” (ในปี 2021) ยังคงเป็นคำแบบลูกนอกสมรส หน่วยงานทางการยังไม่รับรอง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งความป๊อปปูล่าร์ไว้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะว่าหลักฐานเริ่มประจักษ์แก่สายตามนุษย์ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและยังคงใช้ชีวิตอยู่ในยุคนี้

แอนโทรโปซีน คือ ยุคที่สภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์อย่างไม่มีหวนกลับ7 ถุงพลาสติกที่อยู่ใต้ทะเลลึกที่สุดของโลก สัตว์หลายสปีชี่ส์ที่สูญพันธ์ไปในรอบพันปี ระเบิดนิวเคลียร์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไก่ปีละ 60,000 ล้านตัว8 ฯลฯ สมมุติมนุษย์โลกทั้งหมดหายไปแล้วมีมนุษย์ต่างดาวมาสำรวจโลกในอีกหนึ่งแสนปีข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ ซากถุงพลาสติก ซากสัตว์และฟอสซิลไก่ รอยระเบิดนิวเคลียร์ ฯลฯ ตราบใดที่โลกยังไม่ได้ถูกดวงอาทิตย์กลืนไปในอีกราว 7 – 8,000  ล้านปีข้างหน้า ตราบนั้นร่องรอยที่มนุษยทำในช่วง 250,000 ปีที่ผ่านมาก็ (น่า) จะคงอยู่ อย่างน้อยที่สุดเราก็อาจจะอยู่ในรูปฟอสซิลพร้อมถุงพลาสติกข้างกายให้มนุษย์ต่างดาวมาขุดพบเหมือนเราขุดเจอโครงกระดูกไดโนเสาร์  

คำว่า Anthropocene ในภาษาอังกฤษเหมือนจะยังไม่มี adjective (คิดว่า anthropocenal ดูน่ารัก) แต่มีคำญาติว่า anthropocentric ซึ่งมีนิยามความหมายที่สองในเว็บไซต์ dictionary.com ที่สะท้อนยุคแห่งมนุษย์ได้ดีมากว่าเป็น “การตั้งสมมุติฐานว่ามนุษย์เป็นเป้าหมายและจุดหมายปลายทางแห่งจักรวาล9

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ จักรวาลจะยังคงดำเนินต่อไป แม้มนุษย์จะไม่อยู่แล้วก็ตาม

ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรเศร้าจนเกินไปนัก ดังที่จอห์น กรีน (John Green) ให้มุมมองไว้เสียดิบดีในหนังสือ The Anthropocene Reviewed (2021) ซึ่งเป็นงานเขียนรวบรวมเรียงความ (essay) กิจกรรมของมนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีนพร้อมให้ดาวเหมือนรีวิวเหมือนบริการใน Grab หรือรีวิวสินค้าจาก Shopee อันเป็นการกระทำที่สุดแสนจะสะท้อนความเป็นแอนโทรโปซีน10 (หรืออะไรที่มนุษย์เอามากๆ –เวลาพูดแบบนี้หมายถึงว่ามีแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ทำ สัตว์สปีชีส์อื่นไม่ทำแบบเรา) ว่า ‘ใช่ โลกจะดำเนินต่อไป อะไรหลายอย่างในโลกอาจจะดีขึ้นหากไม่มีเรา นกอาจจะร้องเพลงมากขึ้น (เพราะมันมีชีวิตรอดมากขึ้น) สัตว์ป่าจะได้ออกมาเดินเล่นมากขึ้น ต้นไม้จะเยอะขึ้น แต่ว่าหากไม่มีเรา “มนุษย์” โลกคงจะน่าเบื่อเอาเรื่องอยู่ เพราะเราน่าจะเป็นสปีชีส์ที่น่าสนใจที่สุดที่เคยใช้ชีวิตบนดาวโลกแล้ว’

สิ่งที่จอห์น กรีนพูดไม่มีผิดถูก ถกเถียงกันได้ว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจที่สุดบนโลกหรือไม่ แต่จอห์น กรีนให้มุมมองใหม่แก่ความเข้าใจแอนโทรโปซีน เพราะเวลาที่เราพูดถึงแอนโทรโปซีน มนุษย์มักเป็นผู้ร้าย เป็นตัวบอสใหญ่สุดในเกมแอคชั่นที่ต้องปราบให้สิ้น แต่จอห์น กรีนฉุกให้เราคิดว่าวันเวลาที่เราใช้จ่ายไปบนโลกนี้ไม่ได้เลวร้ายเสียหมด มนุษย์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “ประหลาด แต่น่าเอ็นดู” เราเป็นคนทำให้โลกน่าอยู่ไม่มากก็น้อย เรามีสิทธิบนโลกนี้พอๆ กับสิ่งมีชีวิตอื่น

หากคิดจะลงมือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจริงจังแล้ว วิธีคิดแบบจอห์น กรีนที่ยังคงมองแง่ดีของการมีมนุษย์อยู่บนโลกน่าจะสื่อสารกับคนบางประเภท (อย่างเช่นเรา) และทำให้มีกำลังใจในการสู้ต่อไปมากกว่าจะสุดโต่งว่าทางรอดเดียวคือทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ไป

จอห์น กรีนให้อธิบายถึงสภาวะแอนโทรโปซีนว่า “ไม่มีอะไรจะมีความเป็นมนุษย์มากไปกว่ามนุษย์ที่ชอบทำให้ตัวเองยิ่งใหญ่กว่าที่เป็น (“Nothing is more human than self-aggrandizing humans”) ซึ่งสิ่งนี่แหล่ะที่ทำให้เราทรงอำนาจเหลือเกินในศตวรรษที่ 21 แฮงค์ กรีน (น้องชายของจอห์น กรีน) กล่าวไว้ว่า “ในฐานะมนุษย์ ปัญหาใหญ่ที่สุดของคุณก็คือมนุษย์คนอื่นๆ คุณต้องยอมให้มนุษย์คนอื่น ต้องพึ่งพาพวกเขา แต่ลองจินตนาการดูสิว่าถ้าคุณเป็นแม่น้ำในศตวรรษที่ 21 หรือทะเลทราย หรือหมีขั้วโลกเหนือ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของคุณก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ดี คุณต้องยอมให้มนุษย์ แถมยังต้องพึ่งพามนุษย์อีก

 “ห่านแคนาดา” และ “ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์” ซึ่งเป็นหัวข้อเรียงความสองบทใน The Anthropocene Reviewed สะท้อนสภาวะนี้ได้ชัดเจนมาก

source: allaboutbirds.org

ห่านแคนาดาหน้าตาแบบรูปด้านบน ถ้าใครเคยไปอเมริกาจะพบว่าเจ้าห่านแคนาดานี้มีจำนวนประชากรที่เยอะมากๆ และเห็นได้ทั่วไป ต่อให้มันดูน่ารัก แต่นิสัยมันไม่ได้เป็นมิตรเหมือนหน้าตา เพราะหากมนุษย์เผลอเข้าไปในระยะที่มันไม่สบายใจ มันก็ไม่ลังเลที่จะจิกมนุษย์โดยไม่ใยดี

ทุกวันนี้มีห่านแคนาดากว่า 4 – 6 ล้านตัวทั่วโลก แต่ก่อนยุคแอนโทรโปซีน ห่านแคนาดาหายากกว่านี้มาก มันถูกล่าโดยมนุษย์เพื่อใช้เป็นเหยื่อในการล่าสัตว์อื่นจนบางสายพันธุ์เกือบสูญพันธ์ แต่ก็มนุษย์อีกนั่นแหล่ะที่ตกลงร่วมกันในปี 1935 ว่าห้ามใช้สัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่มาเป็นเหยื่อ เจ้าห่านแคนาดาก็เลยได้ประโยชน์ไปเต็มๆ มันเริ่มแพร่พันธุ์ช้าๆ ก่อนจะออกลูกออกหลานอย่างก้าวกระโดดในสภาพแวดล้อม เช่น บ้านชานเมือง สวนริมน้ำ สนามกอล์ฟ ฯลฯ ที่มนุษย์จัดสรรไว้ให้เติบโตอย่างเหมาะสม

เราอาจคิดว่าโลกยุคแอนโทรโปซีนมีแต่มนุษย์ที่ครองโลกและแพร่พันธุ์อย่างก้าวกระโดด แต่ความเป็นจริงยังมีห่านแคนาดา (หรือสัตว์อีกหลายประเภท โดยเฉพาะพวกสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารในระบบทั้งหลาย) ที่เข้ายึดครองพื้นที่บนโลกในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่ถึงกระนั้น ห่านแคนาดามันก็ไม่ได้ซาบซึ้งกับมนุษย์เท่าไหร่หรอก (เผลอๆ มันคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นเจ้าพวกมนุษย์ที่ทำให้มันครองพื้นที่หลายทวีปในโลกตอนนี้) เพราะมันทั้งกัดทั้งจิกทั้งทึ้งมนุษย์ มนุษย์ที่เจอห่านแคนาดาบ่อยๆ ก็เริ่มไม่เอ็นดูมัน คิดว่ามันเป็นสัตว์วัชพืชที่รบกวนการตั้งถิ่นฐาน แต่สำหรับจอห์น กรีน ห่านแคนาดาเป็นธรรมชาติที่เอื้อมถึงในหลังบ้าน เวลาแหงนหน้ามองฟ้าแล้วเห็นห่านแคนาดาบินเป็นรูปตัววี (V) พอดีเป๊ะก็ยังทำให้รู้สึกทึ่งกับสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์

จอห์น กรีนเคยบอกอดีตแฟนสาวว่าสิ่งที่เขากลัวที่สุดในชีวิตคือ “การถูกทอดทิ้ง” แต่แฟนสาวกลับพูดว่าเธอกลัว “ห่าน” ที่สุด

บทสนทนาอาจฟังดูตลก แต่เจ้าห่านแคนาดาเคยทำให้เครื่องบินตกลงแม่น้ำมาแล้ว แล้วก็เจ้าห่านแคนาดานี่แหล่ะที่เคยพุ่งเข้าใส่นักปั่นจักรยานจนต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์มาแล้ว

สำหรับจอห์น กรีนแล้วนี่เป็น “สิ่งที่น่าพิศวงเหลือเกินในความเป็นแอนโทรโปซีน” (“the great oddities”) เราในฐานะเผ่าพันธุ์มนุษย์ทรงพลังมากพอที่จะทำให้ห่านแคนาดาที่เคยเกือบสูญพันธ์กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้ครองพื้นที่โลกเป็นล้านๆ ตัว มนุษย์ทรงพลังขนาดเลือกได้ว่าสัตว์สปีชีส์ไหนจะอยู่หรือจะตาย แต่ในฐานะมนุษย์เดี่ยวๆ จอห์น กรีนไม่รู้สึกมีอำนาจขนาดนั้นเลย เขาเลือกไม่ได้ว่าจะให้สปีชีส์ไหนอยู่หรือตาย เขากลัวห่านแคนาดาจะมาทำร้าย แค่จะให้ลูกกินอาหารเช้ายังทำไม่ได้เลย   

ในทุกๆ วันของชีวิต มีสิ่งที่ “ต้อง” ทำมากมายเสียจนบางทีเรานึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “ข้อเท็จจริง” เดียวของชีวิตที่อยู่มาตลอด เช่น การต้องตัดหญ้าหน้าบ้าน การส่งลูกไปเรียนฟุตบอล ฯลฯ แต่แท้จริงสิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานเมื่อเทียบอายุของโลก การที่เปิดประตูหน้าบ้านออกไปเจอห่านแคนาดาก็เช่นกัน ต่อให้รู้ว่าน่าจะโทษมนุษย์มากกว่าห่านแคนาดา แต่จอห์น กรีนก็รีวิวให้คะแนนห่านแคนาดาแค่สองดาว

source: walmart.com

หมีก็เป็นสปีชีส์ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าห่านแคนาดา ครั้งหนึ่งมนุษย์ซีกโลกบนเคยอยู่ในโลกที่คำว่า “หมี” หรือ “bear” เป็นคำต้องห้าม เพราะกลัวว่าถ้าพูดคำว่า “หมี” แล้วเดี๋ยวหมีจะมา แต่อันที่จริงหมีน่าจะกลัวมนุษย์มากพอๆ กันหรือมากกว่าเพราะมนุษย์เคยออกล่าหมีเป็นกิจจะลักษณะ แถมล่าอย่างเหี้ยมโหดและไร้ปราณี เช่น ล่ามหมีไว้กับต้นไม้แล้วให้หมาพุ่งเข้ากัดจนตาย หรือ จัดกีฬาสู้หมีให้หมีสู้กันจนตาย

แต่เมื่อมนุษย์เริ่มครองโลก หมีในมโนสำนึกมนุษย์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเช่นการเกิดขึ้นของตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ (Teddy Bear) จากเรื่องเล่าว่าประธานาธิบดี Theodore “Teddy” Roosevelt ของสหรัฐฯ ออกไปล่าหมีแล้วมีลูกน้องจับหมีมัดบนต้นไม้ไว้ให้ ซึ่ง Teddy รู้สึกว่ามันไม่มีน้ำใจนักกีฬาเอาเสียเลยจึงไม่ยิงหมีทิ้ง11 เรื่องนี้เป็นที่โจษจันสรรเสริญจนนักวาดการ์ตูนคนหนึ่งในวอชิงตัน โพสต์วาดฉากนี้ออกมา แต่พอดีว่าเขาวาดหมีให้ตากลมโตจ้องประธานาธิบดีร้องขอความเห็นใจ หมีเลยกลายเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร

มอริสและโรส มิชทอมเห็นภาพนี้ก็เกิดปิ๊งไอเดียแล้วสร้างตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ หรือ “Teddy’s Bear” ขึ้นมา ซึ่งแปลงสภาพหมีที่เพียงไม่กี่ปีก่อนยังเป็นสัตว์อันตรายให้กลายเป็นสิ่งคล้ายชีวิตที่ตากลมโตเป็นมิตรกับมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่ยังเล็ก ยิ่งเวลาผ่านไป หมีก็ยิ่งขนฟูและน่ารักขึ้นเรื่อยๆ หมีพูห์ในปี 1962 หมีแพดดิงตั้นในปี 1958 แคร์แบร์ในปี 1981

สำหรับมนุษย์ที่อยู่ในเมืองแล้ว “หมี” ในสามัญสำนึกคือ หมีแบบที่อยู่ในภาพการ์ตูนวอชิงตัน โพสต์ ตาโต น่ารัก น่าสงสารและต้องถะนุถนอม เวลาเพียงไม่กี่ปี “หมี” ที่เราไม่อาจเอ่ยชื่อได้กลายเป็นคำเตือนของลูกสาวจอห์น กรีนเวลาจอห์น กรีนลืมปิดไฟ “พ่อ คิดถึงหมีขั้วโลกด้วย!” มนุษย์เมืองมีอำนาจเหนือสภาพแวดล้อมจนไม่ได้กลัวถูกหมีทำร้ายอีกต่อไป แต่กลัวว่ามันจะสูญพันธุ์

ในศตวรรษที่ 21 สัตว์สปีชีส์ที่อยู่รอดคือสัตว์สปีชี่ส์ที่มีประโยชน์กับมนุษย์ แต่สมมุติว่ามีประโยชน์กับมนุษย์ไม่ได้ อย่างน้อยพยายามน่ารักในสายตามนุษย์ก็ยังดี มนุษย์จะได้รู้สึกว่าต้องปกป้อง รู้สึกผิดบาปถ้ามันจะสูญหายไปจากโลกใบนี้

ที่น่าเศร้า ต่อให้น่ารักก็ยังอาจจะไม่พอ เพราะขณะที่รัฐมิสซิสซิปปี้มีหมีเหลือไม่ถึง 50 ตัว ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์กลับทำยอดขายได้เป็นล้านๆ ตัวต่อปี

จอห์น กรีนให้ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ แบร์ 2.5 ดาว

The Anthropocene Reviewed อาจเป็นงานเขียนที่โรแมนติกกับชีวิตสำหรับหลายคน แต่มันช่างตรงจริตเรามาก ในหนังสือยังมีเรียงความที่ดีอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่อง รอยมือถ้ำในผนังลัสโก้12 ที่เคยเขียนไปก่อนหน้า มีทั้งเรื่องที่เปิดสามัญสำนึกและเรียกน้ำตา แถมยังน่าจะช่วยให้คนทั่วไปเห็นภาพและจับต้องแอนโทรโปซีนได้ดีมากที่สุดเล่มหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาและหลายปีต่อไปในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ เราขอให้ The Anthropocene Reviewed 5 ดาวเต็ม  

.

.

.

 1 ได้ยินคำว่า “แอนโทรโปซีน” ครั้งแรกในคลาสเรียนปริญญาโทมานุษยวิทยา จำบริบทที่นำมาสู่คำนี้ไม่ได้ แต่จำแม่นว่าได้ยินในห้องเรียนนั้นปี 2019 เพราะถามอาจารย์ว่ามันหมายถึงอะไร แต่อาจารย์ตอกกลับว่าทำไมไม่รู้จัก ไหนบอกว่าเรียนแล้ว ซึ่งจริงๆ ยังไม่เคยเรียนและไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์ไม่ยอมอธิบายดีๆ 55555 ซึ่งกลายเป็นสาเหตุให้หลังเลิกเรียน Google อย่างบ้าคลั่งว่ามันคืออะไร คำนี้เลยประทับลงหัวสมองแม่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2 โดยเฉพาะหากหนังที่สร้างจากหนังสือ Sapiens ได้รับความนิยมไปทั่วโลก คนจะยิ่งพูดถึงคำนี้มากขึ้น เพราะไอเดียใน Sapiens ทับซ้อนกับแนวคิดแอนโทรโปซีนอย่างมาก

3 https://www.dictionary.com/browse/anthropocene

4 https://thematter.co/science-tech/wellcome-to-anthropocene/878

5 https://sac.or.th/main/th/article/detail/230#:~:text=คำโปรย%20“โฮโลซีน,ควอเตอร์นารี%20(Quaternary)%20ความอบอุ่น

6 http://www.salforest.com/blog/anthropocene

7 https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/anthropocene/

8 https://onetonion.com/2019/12/19/anthropocene-จะอยู่กับเราไปชั่วชี/

9 https://www.dictionary.com/browse/anthropocentric

10 แต่ถ้าให้สรุปจริงๆ คิดว่าหนังสือเล่มนี้แบ่งออกได้เป็นสามหมวดใหญ่ คือ 1) การรีวิวกิจกรรมที่มะนุ้ดมนุษย์ 2) สภาวะของมนุษย์ยุคแอนโทรโปซีนย่อยช่วงโควิดและการปิดเมือง และ 3) การต่อสู้กับ anxiety และโรคซึมเศร้าของจอห์น กรีน

11 ตอนจบที่แท้จริง ประธานาธิบดีรูสเวลท์สั่งให้ลูกน้องเชือดคอหมีตัวนั้นเสียเพื่อให้มันไม่ต้องทรมาน

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *