รู้จักแต้มต่อของชีวิตผ่านหนังสือ The Unfair Advantage
March 25, 2022

แต้มต่อของชีวิตเราอยู่ตรงไหน? 1
ในฐานะนักอ่านชอบ The Unfair Advantages ในความจับต้องได้ ไม่ขายฝันเกินจริงและไม่หดหู่จนเกินไป หนังสืออธิบายปัจจัยความสำเร็จของคนก่อตั้งสตาร์ทอัพ (ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นสตาร์ทอัพ) ได้ลึกซึ้ง จัดหมวดหมู่ครอบคลุม ให้ค่ากับทั้งมิติทางสังคมและความพยายามส่วนบุคคล
หนังสือทำหน้าที่ได้ดีในการทำให้ผู้อ่านไม่ตัดสิน “ความสำเร็จ”2 จากเหตุผลเพียงมิติเดียว เช่น เพราะบ้านรวย เพราะเก่ง เพราะขยัน แต่มันมีปัจจัยหลายข้อที่คนเขียนเรียกว่า “แต้มต่อ” ประกอบกัน หากมี “แต้มต่อ” ด้านใดด้านหนึ่งอย่างโดดเด่นแล้วก็อาจจะทำให้ชีวิตไปสู่จุดที่ต้องการได้
แต้มต่อนี้คืออะไร
แต้มต่อนี้ คือ The Unfair Advantages หรือ “ข้อได้เปรียบที่ไม่ยุติธรรม” หรือไม่แฟร์ที่เรามีเมื่อเทียบกับคนอื่น เป็นต้นทุนชีวิตที่เรามีติดตัวหรือค่อยๆ พัฒนาจนคนจำนวนมากลอกเลียนแบบไม่ได้ง่ายๆ
แต้มต่อนี้แบ่งออกเป็น 5 ด้านหรือ MILES ได้แก่
Money – เงินหรือต้นทุนทางการเงิน
Intelligence and insight – ความฉลาดและการตระหนักรู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้
Location and luck – การอยู่ถูกที่ถูกเวลาแล้วลงมือทำอะไรสักอย่าง
Education and expertise – การศึกษาและความเชี่ยวชาญ
Status – สถานะทางสังคม
ผู้เขียน Ash Ali และ Hasan Kubba ซึ่งคร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพสรุปออกมาเป็น framework แบบรูปด้านบน
แต้มต่อเหล่านี้จะต้องมาพร้อมสิ่งที่ Ali และ Kubba เรียกว่า “Reality-Growth Mindset”
Reality-Growth Mindset เป็นแนวคิดพัฒนาตนเองที่ต่อยอดจากวิธีคิดเรื่อง mindset ที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบันระหว่าง Fixed Mindset กับ Growth Mindset ของ Dr. Carol Dweck
Fixed mindset คือ ความเชื่อว่าชีวิตเราเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ แต่พรสวรรค์นี้จำกัดแค่บางเรื่อง เราอาจมีทักษะและสามารถทำได้ดีในบางเรื่อง แต่ทว่าก็อยู่แค่นั้น ไม่สามารถขยายหรือพัฒนาไปยังเรื่องอื่นๆ ได้
Growth mindset คือ ความเชื่อว่าชีวิตลื่นไหล ถ้ามีอะไรที่ยังทำไม่ได้ มันเป็นเพียงเพราะเรายังไม่ได้มีเวลาฝึกฝนพัฒนา ในภาษาอังกฤษมันคือการใส่คำว่า “yet” ลงไปทุกหลังประโยค “I can’t play tennis…yet” ตอนนี้ฉันเล่นเทนนิสไม่ได้ แต่อนาคตถ้าฝึก ฉันคงเป็นมือโปร
แม้ Ash กับ Hasan จะบอกว่าวิธีคิดแบบ Growth Mindset “ชีวิตนี้ฉันทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้” จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหลงคิดจนไม่ยึดติดกับโลกความเป็นจริงเลย คนที่คิดแบบนี้จะเอาแต่เพ้อฝัน พอมองไปรอบตัวเห็นว่าชีวิตไม่เป็นอย่างที่ฝันก็อาจจะผิดหวัง ป่วยทางจิตเอาได้ง่ายๆ
สองคนจึงเสนอ Reality-Growth Mindset ซึ่งคือการยอมรับว่า “แม้ชีวิตจะมีข้อจำกัดที่อยู่เกินการควบคุมของเราแต่เราควรเห็นว่าชีวิตยังมีโอกาส มีทางให้ไป มีอะไรที่ยังเป็นไปได้มากมาย” เราพัฒนาได้ แต่พัฒนาจากสิ่งที่เป็น จากความเป็นจริงและสภาพแวดล้อมที่เราพบเจอ
ในบางครั้ง คุณต้องคิดว่าชีวิตไร้ข้อจำกัดเพื่อให้มีแรงบันดาลใจมากพอที่จะลงมือทำสิ่งที่ยากกว่าปกติ แต่บางครั้ง คุณก็ต้องสำเหนียกได้ว่า คุณอาจจะไม่ใช่อีลอน มัสก์ หรือ สตีฟ จ๊อบ คนต่อไป เป้าหมายชีวิตคุณจะต้องเล็กลง
วิธีคิดแบบ Reality-Growth Mindset คือ สมดุลระหว่างการรู้จักตัวเอง (self-awareness) และความเชื่อมั่นในตัวเอง (self-belief) มันเป็น “วิธีคิดแบบตาดูดาวเท้าติดดิน” ต้องตระหนักว่าสถานการณ์หรือเงื่อนไขชีวิตจริงเป็นอย่างไร แต่ว่าก็เชื่ออยู่ดีว่ามันดีขึ้นกว่าจุดที่เป็นอยู่ได้
เมื่อตาดูดาวเท้าติดดินแล้ว ต่อไปคือการค้นหาว่าข้อได้เปรียบที่ไม่ยุติธรรมของชีวิตคุณอยู่ตรงไหน เพื่อให้คุณรู้ว่าแต้มต่อที่ว่านี้จะปูทางไปสู่สิ่งที่คุณต้องการได้อย่างไร
.
Money – เงินทุน
เงินทุนคือข้อได้เปรียบที่ตรงไปตรงมาที่สุด สังคมโลกที่เหลื่อมล้ำสร้างให้คนที่เติบโตมาในครอบครัวที่พร้อมอย่าง Evan Spiegel เจ้าของ Snap Chat หรือ ลูกของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Euan Blair เจ้าของ WhiteHat มีแต้มต่อมากกว่าคนอื่นในชีวิต
เงินทุนทำให้ Runways ในโลกสตาร์ทอัพยาว มีเงินที่จะใช้กับ burn rates มากขึ้น (การใช้เงินเพื่อบริหารในช่วงหลายเดือนที่สตาร์ทอัพยังไม่ทำเงิน) หรือเป็นเบาะรองเวลาล้ม
Ash Ali เติบโตจากครอบครัวอพยพในอังกฤษที่ไม่ได้มีเงินมากนัก เขาเข้าใจดีว่าการไม่มีเงินมันส่งผลต่อวิธีคิดอย่างไร เขาสนับสนุนหลักการ Universal Basic Income (UBI) ในเล่มนี้เพื่อให้คนลืมตาอ้าปาก มีเวลาในการมาคิดค้นธุรกิจใหม่ๆ ได้
Ash กับ Hasan ไม่ได้นิยามว่าต้องมีเงินระดับมหาเศรษฐีอย่าง Spiegel แค่ถ้าคุณมีพอที่จะไม่อยู่ในภาวะยากจนค้นแค้นอดมื้อกินมื้อ คุณมีบ้านพ่อแม่ให้อาศัยระหว่างที่คุณเอาเวลาไปหาเงินได้ แค่นั้นอาจจะเป็น “แต้มต่อ” ที่คุณมี เพราะ Ash ก็เป็นแบบนั้น สิ่งเดียวที่เขามีคือการไม่ต้องจ่ายค่าบ้าน เขาจึงสามารถเอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มกับการหาช่องทางทำธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเป็นดาบสองคม คนที่เกิดมาสบายอยู่แล้วอาจไม่มีแรงผลักดันมากพอที่จะทำธุรกิจให้สำเร็จ ใช้เงินมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา
ทำอย่างไรถึงจะมีเงินเพิ่ม: ประหยัด, เรียนรู้มาร์เก็ตติ้งและการขาย, ระดมทุน, เรียน coding, ทำฟรีแลนซ์ ฯลฯ
.
Intelligence and insight – ความฉลาด
ถ้าชีวิตนี้เคยมีคนชมคุณว่า “ฉลาดจัง” คุณอาจจะกำลังมีแต้มต่อด้านความฉลาดในบางมุมที่คุณไม่รู้ตัว
Ash และ Hasan แบ่งความฉลาดออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่
Book smarts คือ ความสามารถในการเข้าใจทฤษฎี อ่านหนังสือแล้วแตกฉาน สามารถทำความเข้าใจกับแนวคิดหรือวิธีการถ่ายทอดของมนุษย์คนอื่นผ่านตัวอักษร หรือ การเรียนในห้องเรียน
คุณอาจจะรู้ตัวว่าคุณ book smart หรือไม่ผ่านการเรียนในหลักสูตรและการทำข้อสอบ ต่อให้ตอนเด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง ก็อาจจะรู้ตัวทีหลังในชีวิตว่า book smart ก็ได้ เพราะ Ash ก็เป็นแบบนั้น เรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ห่วย แต่โตมาอ่านหนังสือตามความสนใจกลับทำได้ดีมากๆ
Street smart คือ ความฉลาดนอกห้องเรียน สิ่งที่คุณเรียนรู้จากการลงมือทำ และศิลปะการเข้ากับคนอื่น “people skill” เช่น คุณหา co-founder ได้ถูกคนหรือไม่ คุยกับลูกค้ารู้เรื่องหรือเปล่า ต้องพึ่งพาความฉลาดทางอารมณ์และทักษะทางสังคมมหาศาล
Street smart แบ่งออกได้เป็นอีกสามข้อย่อย
1 ความฉลาดทางสังคมและความฉลาดทางอารมณ์ – รู้ว่าต้องถามคำถามแบบไหนที่จะได้คำตอบที่ต้องการ ทำให้คนอื่นเชื่อใจ มีสัมพันธ์ที่ดีกับมนุษย์คนอื่น
2 สามัญสำนึก (common sense) – รู้ว่าเชื่อใจใครได้ ต้องเข้าหาใคร เข้าใจเทรนด์ รู้ว่าต้องใช้อะไรเพื่อให้สิ่งที่ต้องการ
3 จับตอแหลคนเป็น (bullshit detection) – จับได้เวลาคนอื่นพยายามจะตอแหลใส่คุณ
Creative intelligence คือ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง Ash และ Hasan บอกว่าเป็นความฉลาดที่ทรงพลังมากในการจะทำสตาร์ทอัพ ความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้มันไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิด แต่เป็นการเชื่อมโยงจุด (connecting the dots ของสตีฟ จ๊อบส์) การเชื่อมโยงสองสามอย่างที่คนอื่นมองไม่เห็นจุดเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ คือหัวใจของความฉลาดนี้
Insight – ความลึกซึ้งในอะไรบางอย่าง การมองทะลุสิ่งที่อยู่ผิวเผิน การเข้าใจสถานการณ์ที่คนอื่นไม่เข้าใจ ในเชิงการตลาดแล้ว การมี insight คือการรู้ว่าคนที่จะกลายเป็นลูกค้าต้องการอะไร มีอะไรที่ขาดหายไปในตลาด มีสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จจากการที่ตัวผู้ประกอบการมีปัญหา (pain point) และต้องการแก้ปัญหาของตัวเอง เช่น ทริสทัน วอล์กเกอร์ เจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่เริ่มจากการแก้ปัญหาแผลจากมีดโกนและขนคุดของตนเอง หรือ เมลานี เพอร์กินส์3 เจ้าของ Canva ที่คิดว่าการทำกราฟฟิกจากโปรแกรม Illustrator ตอนเรียนปีหนึ่งมันช่างลำบากยากเย็นเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม คนที่รู้ตัวว่าตัวเองไม่เก่งในบางมิติอาจจะเต็มใจหาคนมาช่วยมากกว่า ทำให้มีทักษะการสร้างทีมติดตัว ซึ่งคนที่คิดว่าตัวเองฉลาดมากๆ อาจจะรู้สึกว่าฉันไม่ต้องการใคร ริชาร์ด แบรนสันเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะเขามี dyslexia หรือปัญหาในการอ่านเขียน ทำให้เขาต้องหาคนอื่นๆ ที่ฉลาดกว่าเขามาทำงานแทนเสมอ (แต่ถ้าเป็นแบบนี้ก็คือไม่ book smart แต่ street smart มากๆ) อีกข้อหนึ่งคนที่ฉลาดมากๆ อาจไม่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ เช่น นิโคลา เทสล่า (bullshit detection ไม่เก่ง) หรือเป็นเพราะคาดเดาอนาคตมากเกินไป ประเมินว่าจะมีอุปสรรคมาขัดขวางทำให้ไม่กล้าเดินไปทิศทางนั้น ดังนั้น การจะทำสตาร์ทอัพได้ต้องการ naïve optimism พอประมาณ
จะฉลาดเพิ่มขึ้นได้อย่างไร: อ่านหนังสือ, ขี้สงสัยให้มากขึ้น, ถามคำถามให้เยอะขึ้น, ทำการทดลอง, ลองโฟกัสมากขึ้นว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร มีผลกระทบทางอารมณ์แบบไหน, คอยสังเกตเวลาคนบอกว่าทำอันนี้แล้ว “ลำบาก” หรือ “ไม่สะดวก” (สิ่งเหล่านี้คือ insight สำหรับ start-up), จับสังเกตอารมณ์และความรู้สึกตนเอง
.
Location and Luck – สถานที่และโชค
หัวใจของ location and luck คือ การอยู่ถูกที่ถูกเวลา
การอยู่ถูกที่ – คนอาจจะไม่คิดว่าสถานที่มีความสำคัญ แต่จริงๆ มันสำคัญมาก ทั้งในการทำธุรกิจและปัจจัยทางสังคม Hasan จินตนาการไม่ออกว่าเขาจะมีชีวิตอย่างที่เขามีได้อย่างไร ถ้าพ่อแม่ของเขาไม่อพยพจากกรุงแบกแดดมาลอนดอนตอนเขาเด็กๆ วอร์เรน บัฟเฟตเคยบอกว่าเขาชนะ “vagina lottery” หรือ เกิดถูกมดลูก ที่แม่ให้เขาเกิดในสหรัฐอเมริกา
ในเชิงธุรกิจ การมีบริษัทในสถานที่อย่าง Silicon Valley อาจเป็นแต้มต่อในชีวิตที่สูงมาก เพราะมันง่ายต่อการที่คุณจะได้ประโยชน์จากการหมุนเวียนของเงินทุน มันสมอง และนวัตกรรม Ash และ Hasan ยกตัวอย่าง สตาร์ทอัพคนหนึ่งที่ชื่อเจมส์ คานผู้ก่อตั้ง Dragon’s Den ที่เลือกเช่าออฟฟิศเท่ารูหนูในย่านสุดแพงชื่อเมย์แฟร์ของอังกฤษ ออฟฟิศนี้แทบใช้งานไม่ได้จริง แต่มันเป็นที่อยู่ในนามบัตร ซึ่งเขาเอาไปใช้เป็นแต้มต่อในการทำให้คนรู้สึกว่าบริษัทของเขาน่าเชื่อถือตอนที่เริ่มตั้งบริษัทใหม่ๆ ได้
การอยู่ถูกเวลา – “โชค” สำหรับ Ash และ Hasan คือ “การอยู่ถูกที่ถูกเวลาในกระแสธารประวัติศาสตร์แล้วลงมือทำอะไรบางอย่าง” การอยู่ถูกที่ถูกจังหวะหรือ getting the timing right ไม่ใช่เรื่องง่าย บิล กรอส เจ้าของ Idealab ซึ่งเป็นสถานที่ปลุกปั้นสตาร์ทอัพแห่งแรกๆ ตั้งแต่ยุค 90s จัดลำดับความสำคัญของปัจจัยสามข้อที่สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จ (สมมุติว่ามีเงินทุนพร้อม) ระหว่าง 1) การอยู่ถูกเวลา (timing) 2) ทีมและการดำเนินงาน (team and execution) และ 3) ไอเดียความคิด เขาค้นพบว่าข้อแรกหรือ timing สำคัญที่สุด หลายคนอาจจะคิดว่าสตาร์ทอัพไปรุ่งเพราะไอเดีย แต่แท้ที่จริงสตาร์ทอัพรุ่งได้เพราะมีไอเดียที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา การเป็นเจ้าแรกไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป หากมาเป็นเจ้าท้ายๆ ก็อาจมีคนครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ไอเดียที่ดีในเวลาที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องสำคัญ
เราจะอยู่ถูกที่ถูกเวลามากขึ้นได้อย่างไร: เพิ่มโอกาสให้ตัวเองเยอะเท่าที่จะทำได้, เชื่อในสัญชาติญาน โดยเฉพาะยามที่มีประสบการณ์แล้ว, คาดหวังไปเลยว่าเราจะโชคดี ทำให้เป็น self-fulfilling prophecy, ทำโชคร้ายให้กลายเป็นโชคดี, ลงมือทำให้มากขึ้น
.
การศึกษาและความเชี่ยวชาญ (Education and Expertise)
Ash เรียนในระบบการศึกษาไม่เก่งและดรอปเรียนจากมหาวิทยาลัยสองครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็อยู่ในทีม JustEat UK ที่ IPO เป็นพันล้าน ฉะนั้น การศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่สำคัญอย่างนั้นหรือ?
คำตอบคือ “ไม่จริง” แม้เพียงนิด
Ash คือ outlier ของ outlier ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพแบบ Ash คือหนึ่งในพัน
คนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยที่ผลิตสตาร์ทอัพสูงสุดคือ สแตนฟอร์ด รองลงมาเป็น ฮาร์วาร์ด ยูซี เบิร์กเลย์ และ MIT (นึกถึงคนอย่างมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก หรือ สตีฟ จอบส์ ต่อให้เรียนไม่จบ ก็เข้าเรียนแล้วดรอป)
ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อดังล้วนเรียนโรงเรียนเอกชน ลิสต์ยาวเป็นหางว่าว เช่น ริชาร์ด แบรนสัน (Virgin) บิล เกตส์ (Microsoft) มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก (Facebook) อีลอน มัสก์ (SpaceX) รีด ฮาสทิ้ง (Netflix) แจ็ค ดอร์ซีย์ (Twitter) ฯลฯ
การศึกษาในสถานศึกษาชั้นนำคือแต้มต่อที่ไม่แฟร์อย่างแท้จริงในชีวิตเพราะมันให้สามอย่าง ได้แก่ ความรู้ เครือข่าย และ เครดิตความน่าเชื่อถือ
ความรู้หรือทักษะบางอย่างที่เรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่ง Ash กับ Hasan เรียกว่าความรู้เชิงเทคนิคยังให้แต้มต่อมหาศาล ตัวอย่างเช่น Larry Page กับ Sergey Brin ผู้ก่อตั้ง Google จากการประยุกต์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของตัวเองในปี 1996 ที่ศึกษาโครงสร้างของอินเตอร์เน็ต ทั้งคู่ค้นพบว่า Search Engine ที่มีอยู่ ณ ตอนนั้นให้ผลลัพท์ไม่ค่อยดีเพราะมันอิงกับคีย์เวิร์ด แต่พวกคิดว่าการค้นหาแบบอ้างอิงตัวเลขแบบวิชาการน่าจะทำให้ Search Engine ทำงานได้ดีกว่า ซึ่งก็ทำงานได้ดีกว่าจริงๆ
นิยามของความเชี่ยวชาญที่ Ash และ Hasan ชอบที่สุด มาจาก Professor Fernand Goldberg ซึ่งบอกว่าผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดก็ตามคือ “คนที่ลงมือทำบางอย่างแล้วได้ผลลัพท์ที่เหนือกว่าประชากรส่วนใหญ่” ความเชี่ยวชาญคือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และคุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญแค่เพียงสาขาเดียว
คุณควรจะรู้อยู่แล้วว่าคุณเชี่ยวชาญด้านใด หรือ อยากเชี่ยวชาญด้านใด แต่ต้องระลึกอยู่เสมอว่าคุณไม่สามารถเชี่ยวชาญทุกเรื่องได้ ดังนั้น คุณต้องรู้ว่าควรโฟกัสที่อะไร
อยากเชี่ยวชาญมากขึ้นต้องทำอะไร: ลงเรียนออนไลน์, อ่านหนังสือ, จ้างคนติวหรือโค้ช, ลงมือทำจนเชี่ยวชาญ
.
สถานะ (Status)
สถานะ คือ ตัวคุณ ภาพลักษณ์ที่คนอื่นจดจำคุณ ที่ยืนของคุณในสังคม กายภาพ อายุ เพศ มารยาท เครดิตที่คุณมี
แบ่งสถานะออกเป็นสองแบบ คือ ภายนอก และ ภายใน
สถานะภายนอก (outer status) มาได้จากหลายอย่าง ทั้งอาชีพ การงาน สีผิว อายุ หรือแต้มต่อในด้านอื่นๆ เช่น เงิน ความฉลาด สถานที่ หรือ สถานศึกษา มันคือ สถานะของคุณในสังคมที่คุณอยู่ ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก แต่ Ash กับ Hasan ยกตัวอย่างให้เห็นว่าสถานะแบบไหนก็มีประโยชน์ เพราะมันสร้าง insight ที่ทำให้เฉพาะคุณเท่านั้นที่รู้ได้
สถานะภายใน (inner status) คือ ความมั่นใจในตัวเอง คุณ “ชอบตัวเองมากแค่ไหน” สิ่งเหล่านี้สำคัญและส่งผลต่อสถานะภายนอก เพราะคนอื่นสัมผัสได้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร มั่นใจมั้ย นิสัยดีหรือเปล่า เชื่อในความสามารถของตนเองมั้ย ที่สำคัญไม่ต้องกลัวว่าจะสงสัยในความสามารถหรือมี self-doubt เป็นบางครั้ง คนส่วนใหญ่ของโลกก็มีประสบการณ์นี้ ไม่มีใครรู้ว่าทำยังไงถึงจะถูกในทุกสถานการณ์ ดังนั้น หากคุณอยากทำธุรกิจก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับบทผู้ประกอบการและค่อยๆ เรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร เสริมความมั่นใจไประหว่างทาง
Ash และ Hasan ชวนให้เรายกสถานะมาอ้างต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น หากเราเหนียมอายเกินไป คนก็ไม่เข้าใจที่มาที่ไป แต่หากคุณขี้อวดเกินไป คนก็จะไม่ชอบขี้หน้า
อ้างอิง
Ali & Kubba. 2021. The Unfair Advantage: How You Already Have What It Takes to Succeed. Profile Books. London.
1 คำว่า “แต้มต่อ” น่าจะเหมาะสม เพราะมันคือสิ่งหนึ่งที่บุคคลหนึ่งมี ซึ่งอาจได้มาตั้งแต่กำเนิดหรือฝึกจนมีก็ได้
2 ในหนังสือใช้คำว่า “ความสำเร็จ” (success) แต่รู้สึกว่าแนวคิดเรื่องความสำเร็จมันลื่นไหล อยากเรียกกว้างๆ เป็น “การทำได้ตามความตั้งใจ” (achievement)
3 ขอแสดงความรักและนับถือเมลานี เพอร์กินส์และแฟนผู้คิดค้น Canva อย่างเป็นทางการมา ณ ที่นี่ หากไม่มี Canva แล้ว คงไม่มีกราฟฟิกสวยๆ สำหรับบล็อคนี้