ชวนรู้จักตัวเอง…คุณเป็นคน ‘bittersweet’ มั้ย

June 5, 2022

ก่อนอ่านเล่มนี้ สารภาพว่าไม่คุ้นกับการใช้คำว่า “bittersweet” เป็นคำแสดงคาแรกเตอร์คนเลย ที่เคยได้ยินมักเอาไว้ใช้บรรยายงานสร้างสรรค์ เช่น “หนังเรื่องนี้ bittersweet” “เพลงนี้ bittersweet จัง” ซึ่งนิยามแบบรวมๆ ได้ว่าเป็น “ความรู้สึกสุขปนเศร้าและเข้าใจชีวิต” ยกตัวอย่างเร็วๆ ซีรี่ย์เกาหลีอย่าง Reply 1988, Twenty Five Twenty One หรือหนังอย่าง The Curious Case of Benjamin Button หรือหนังสือ The Perks of Being a Wallflower พวกนี้จัดเข้าหมวด bittersweet ได้หมด

อย่างไรก็ตาม คุณ Susan Cain ผู้เขียน Quiet: The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking ซึ่งเคยชวนให้คนมองเห็นว่านิสัยแบบ introvert มันปกติสำหรับคนหลายคนและมีข้อดีอย่างไร เลือกใช้คำว่า bittersweet มาแทนนิสัยมนุษย์แบบหนึ่ง แล้วตั้งชื่อหนังสือว่า Bittersweet: How Sorrow and Longing Make Us Whole ชวนให้คนเข้าใจอีกครั้งว่าในโลก (โดยเฉพาะประเทศอเมริกาที่เธออาศัยอยู่) ที่เน้นแต่ “ความสุข” จนราวกับความเศร้าเป็นสิ่งแปลกปลอม จริงๆ การมีนิสัยชอบเสพความเศร้าและอาลัยอาวรณ์ไม่ใช่สิ่งผิดแปลก แถมยังมีข้อดีหลายๆ อย่าง

แล้วความ bittersweet คืออะไร?

นอกจากความรู้สึกสุขและเศร้าในเวลาเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า “เวลามีจำกัด”

Susan Cain นิยามว่า bittersweet คือ “แนวโน้มที่จะรู้สึกอาลัยอาวรณ์ เจ็บปวดรวดร้าว โศกเศร้า ในภาวะที่มีสำนึกอย่างชัดเจนถึงเวลาที่ผ่านไป ในขณะเดียวกันก็มีความสุขที่ได้รับรู้ถึงความงดงามของโลก…ภาวะที่ตกอยู่ในความปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่าง หรือติดอยู่กับความปรารถนาบางอย่าง” (“a tendency to states of longing, poignancy, and sorrow; an acute awareness of passing time; and a curiously piercing joy at the beauty of the world…the desire for communion, the wish to go home.)

สรุปตามที่เราเข้าใจ มันคือการมีนิสัยที่จะตระหนักได้ว่า “ชีวิตมีทั้งความสุขและความเศร้า มีทั้งเรื่องสวยงามและหยาบกร้าน การรู้ว่าความสุขหรือทุกข์ไม่ยั่งยืน แต่ในความไม่ยั่งยืนนั้นก็เลือกที่จะสุขหรือทุกข์อยู่ดี”

แล้วคุณเป็นคน bittersweet มั้ย?

คุณ Susan Cain ออกแบบไกด์ไลน์กับศาสตราจารย์นักวิจัยสาขา cognitive แล้วลิสต์คำถาม 15 ข้อด้านล่างเพื่อเป็นแบบทดสอบความ bittersweet แต่ละข้อมีคะแนน 0 – 10 ถ้าเห็นด้วยมากให้ 10 ไม่เห็นด้วยเลยให้ 0

  1. คุณร้องไห้อย่างง่ายดายเวลาดูพวกโฆษณาเรียกน้ำตามั้ย
  2. ดูรูปเก่าๆ แล้วรู้สึกอ่อนไหวง่ายหรือเปล่า
  3. โดยปกติแล้วคุณมีความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อ เพลง ศิลปะ และธรรมชาติมั้ย
  4. เคยมีคนบรรยายว่าคุณเหมือนคนยุคเก่าหรือไม่ (old soul) / หรือหลงมาจากอีกยุคมั้ย
  5. วันฝนตกทำให้รู้สึกสบายใจหรือได้แรงบันดาลใจหรือไม่
  6. รู้มั้ยว่าประโยคนี้ที่นักเขียน C.S. Lewis เขียน “ความสุขคือ ความรู้สึกอาวรณ์ที่เหมือนมีดคมปักกลางอกอย่างน่าอัศจรรย์” หมายถึงอะไร
  7. ชอบบททวีมากกว่ากีฬาหรือไม่ (หรือมองเห็นบทกวีในกีฬา?)
  8. รู้สึกขนลุกหลายๆ รอบในหนึ่งวันหรือเปล่า
  9. เห็น “น้ำตาในสรรพสิ่ง” หรือไม่
  10. ฟังเพลงเศร้าแล้วรู้สึกอินมั้ย
  11. เห็นทั้งความสุขและความเศร้าในสิ่งเดียวกันเวลาเดียวกันหรือไม่
  12. คุณมองหาความงามในชีวิตประจำวันหรือไม่
  13. คำว่า “ความรู้สึกรวดร้าว” (poignant) ตรงกับตัวตนคุณเป็นพิเศษหรือไม่
  14. เวลามีบทสนทนากับเพื่อนสนิท คุณมักคุยเรื่องปัญหาในอดีตหรือในปัจจุบันของเพื่อนหรือเปล่า
  15. คุณรู้สึกว่าความสุขอยู่ใกล้แค่เอื้อมมั้ย  

พอได้คะแนนทั้งหมดให้บวกรวมกัน แล้วหารด้วย 15 ถ้าคะแนนต่ำกว่า 3.8 คุณมีแนวโน้มน่าจะนิยมความสุขมากกว่า ถ้าคะแนนอยู่ระหว่าง 3.8 – 5.7 คุณน่าจะอยู่ระหว่างการนิยมความสุขและความ bittersweet ถ้าคะแนนมากกว่า 5.7 คุณน่าจะมีนิสัย bittersweet

ข้อดีของหนังสือคุณ Susan Cain (เหมือนกับเล่ม Quiet เลย) คือ เขาไม่ได้เขียนเพื่อเถียงหัวชนฝาว่านิสัย bittersweet มีอยู่จริง ตายตัว ปรับไม่ได้ แต่เขาเขียนเพื่อชวนให้เข้าใจว่ามันมีคนที่ “มีแนวโน้ม” จะเข้าใจและรู้สึกกับชีวิตผ่านวิธีคิดแบบนี้ เรามาเปิดใจรับความหลากหลายของมนุษย์กันเถิด

ในบทอื่นๆ ของหนังสือเขายกตัวอย่างงานวิจัย ประสบการณ์ชีวิต (เรื่องของเขากับแม่ – บทนี้คือที่สุดในใจ ยกให้เป็นหนึ่งในงานเขียนที่ประทับใจที่สุดของปีนี้ที่ได้อ่าน ไว้วันหลังจะรีวิวเพิ่ม) และการลงสนามศึกษา เพื่อประกอบว่าจริงๆ ชีวิตมัน bittersweet อย่างไร ความเศร้าจำเป็นต่อความสุขอย่างไร แล้วทำไมเราถึงควร appreciate ทั้งความ bitter และความ sweet ของชีวิต

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *