‘ปริศนา’ เมื่ออ่านซ้ำหลายรอบ

August 2, 2022

“ปริศนา” ประพันธ์โดย ว. ณ ประมวญมารค เป็นหนึ่งในนิยายรักคลาสสิคของไทยระหว่างราชนิกูลหนุ่มกับสาวนักเรียนนอกในปี 2495 ถูกนำไปสร้างเป็นละครทีวีหลายต่อหลายครั้ง ส่วนตัว เวอร์ชั่นที่ประทับใจมากที่สุดคือ ติ๊ก เจษฎากรณ์ กับ เทย่า โรเจอร์

ปริศนาเป็นหนึ่งในนิยายที่อ่านซ้ำหลายรอบ ในชีวิตนี้น่าจะอย่างน้อย 4 ครั้งแล้ว แต่ละครั้งอ่านต่างช่วงวัย อย่างครั้งนี้กับครั้งก่อนคาดว่าห่างกันประมาณ 10 ปี อ่านแต่ละรอบได้อะไรที่ต่างกันออกไปมาก ตอนเด็กๆ อ่านเอาความโรแมนติก รอบนี้อ่านเอาสนุก เพราะนึกอยากอ่านนิยายที่เขียนสนุกแบบวางไม่ลงก็นึกถึงเล่มนี้ อ่านรอบนี้ในวัยนี้ ด้วยความเชื่อที่เปลี่ยนไปจากเก่าเจอเกร็ดน่าสนใจมากมายที่เมื่อก่อนไม่เคยสังเกตเห็น ดังนี้

  • นิยายเรื่องนี้มัน elite ชิบหาย 555 อ่านตอนนี้รู้สึกช็อคที่ปริศนาเรียกบ้านตัวเองจน แต่มีเนื้อที่บ้านไร่ครึ่งและมีคนรับใช้สามคน ปริศนาคงเป็นชนชั้นกลาง แต่นิยายประพันธ์โดยชนชั้นสูง (หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดีรังสิต) และพระเอกก็เป็นชนชั้นสูง (หม่อมเจ้า) ปริศนาคงเลยคิดว่าบ้านตัวเองจน แต่พอเทียบกับบริบทปี 2565 มีคนใช้สามคนแล้วเรียกว่าตนเองจนมันก็อิหลักอิเหลื่อ (อย่างไรก็ดี ความจนเป็นได้ทั้งข้อเท็จจริง และ ความรู้สึก เราอาจจะรู้สึก “จน” โดยที่เมื่อเทียบกับประชากรหมู่มากไม่ได้จนจริง เพราะก็ยังมีความขัดสนบางอย่างในชีวิต แต่ความขัดสนนั้นอาจจะค้านกับความรู้สึกคนอีกกลุ่มใหญ่)

  • อีกอย่างที่ elite มาก คือ ชาติตระกูลสำคัญแม้กระทั่งกับหมา ในเรื่องมันจะมีหมาสองตัว ตัวแรกชื่อ “อ้ายดำ” ซึ่งเป็นหมาข้างถนนที่ปริศนาเก็บมาเลี้ยง ซึ่งตัวนี้ท่านชายไม่ทันระวังขับรถมาบ้านปริศนาแล้วเผลอชนตาย ปริศนาก็โกรธท่านชายยกใหญ่ว่าชนหมาแล้วไม่ขอโทษ ท่านชายก็บอกว่าให้ด่าไปเดี๋ยวจะมาขอบคุณที่หลัง สรุปคือมาขอบคุณทีหลังจริงๆ จ้า เพราะท่านชายซื้อหมาที่มีสกุลรุนชาติมาให้ใหม่ชื่อ “วูปี้” จากฮ่องกง ปริศนาก็หายโกรธเป็นปลิดทิ้ง เพราะได้หมาสกุลดีแทนตัวเก่า อย่าว่าแต่คนไม่เท่ากัน หมายังไม่เท่ากันเลย

  • ปริศนาโปรโมท beauty privilege สุดๆ ใครหน้าตาดีได้รับคำชมเยอะมากในเรื่อง คนหน้าตาไม่ดีโดนด่าแบบไม่ pc ประปรายตลอดเรื่อง

  • ปริศนาตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2494 ประมาณ 19 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 รักข้ามชนชั้นเป็นมรดกของสมัยนิยมในยุคนั้นอย่างหนึ่ง ที่ศักดินากับคนธรรมดาเบลนด์หากันมากขึ้น (สิ่งนี้เขียนไว้ในคำนำ)

  • อ่านรอบนี้เห็นภาพซ้อนกับ Pride and Prejudice ของ Jane Austen ชัดเจนค่อนข้างมาก เช่น พระเอกถือดี นางเอกชนชั้นต่ำกว่า มีญาติของพระเอกที่นึกว่าพระเอกหมั้นหมายกับลูกสาวตัวเองไว้ตั้งแต่เด็ก แล้วตอนท้ายก็มาปรี๊ดแตกใส่นางเอกเหมือนกันว่าแย่งผู้ชายของลูกสาวชั้นไป

  • อย่าง Pride and Prejudice มันจะเป็นแนวโรแมนติก + social commentary วิพากษ์เรื่องผู้หญิงจะครอบครองที่ดินเป็นของตัวเองไม่ได้ ต้องแต่งงานเท่านั้นถึงจะเจอความมั่นคงในชีวิต แต่อย่างปริศนามันจะเป็นแนวโรแมนติก + slice of life + การเก็บบรรยากาศ แล้วมันเก็บบรรยากาศได้ดีมาก เล่าสนุกอย่างถึงที่สุด ถึงอ่านได้หลายรอบขนาดนี้

  • นอกจากนี้ ยังได้ฟีล sisterhood แบบที่ปรากฎเด่นชัดมากในนิยาย Jane Austen พี่สาวน้องสาวที่ทั้งตีกันและรักกัน มีฉากหนึ่งที่คิดว่าคนเขียนเขียนดี๊ดี คือ ตอนที่ ปริศนา กับ อนงค์ (พี่สาว) ทะเลาะกันในห้องนอน อนงค์แอบรักตัวละครตัวหนึ่งชื่อประวิช แต่ประวิชรักปริศนาก็มาขอให้อนงค์ช่วยเป็นแม่สื่อ อนงค์ก็กล้ำกลืนยอมเป็นแม่สื่อให้ แต่ปริศนารู้อยู่แล้วว่าอนงค์รักประวิชก็เลยต่อว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจที่เสนอตัวเป็นแม่สื่อ อนงค์ก็เลยร้องไห้เพราะเสียใจ ส่วนปริศนาก็ร้องไห้ที่ทำให้พี่สาวเสียใจ สุดท้ายก็เลยนั่งร้องไห้อยู่ด้วยกันจนหลับไปทั้งคู่ เอ็นดูมาก

  • มันยัง psychologically acute ในหลายๆ จุด คือมันเข้าใจจิตใจมนุษย์หลายมิติมากๆ โดยเฉพาะความรู้สึกตรงข้ามที่เกิดขึ้นพร้อมกันในตัวมนุษย์ผ่านตัวปริศนา ปริศนารู้สึกทั้งชอบและไม่ชอบคนหลายคนในเวลาเดียวกัน เกลียดและรักในเวลากัน เป็นตัวละครที่มี range ของอารมณ์สูงมากตัวหนึ่ง

  • อย่างหนึ่งที่ต่างไปจากนิยายสมัยนี้คือ ตัวละครพูดคุยกันเยอะมากๆ ถ้าอ่านเทียบนิยายสมัยนี้มันดู driven by ความเหงา แต่อันนี้ไม่ค่อยมีมวลความเหงา

  • ภาษาในปริศนาเป็น point ที่สนุกมาก มันมีหลายคำมากที่อ่านแล้วแบบ “อ๋อ เขาใช้กันแบบนี้ในปี 2494 เหรอ” เช่น เรียก “โรงแรม” ว่า “โฮเต็ล” / คำว่า “เพิ่ง” ใช้ว่า “เพ่อ” / คำว่า “ทาน” ไม่ได้แปลว่า “กิน” แต่แปลว่า “ให้ทาน” หรือ “ต้านทาน” ต้องใช้คำว่า “รับประทาน” เต็มๆ เท่านั้น / คำว่า “ไปแร่ด” ใช้คำว่า “ไปเก๋” / คำว่า “ง่า” นี่มีใช้มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว / คำว่า “หรอก” ใช้ “ดอก” แทน เช่น “ไม่ได้หรอกค่ะ” ก็จะเป็น “ไม่ได้ดอกค่ะ” / “คร่ำหวอด” แปลว่า “แก่” / รถ “เก่า” ใช้ว่า รถ “บุโรทั่ง” ฯลฯ

  • คำด่าที่ตัวละครพูดกันก็มันส์มาก เช่น “เธอทำไมทำกิริยาชั่วเช่นนี้” หรือ “นั่งหน้าโง่” ฯลฯ

  • เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อมาก สมัยที่นิยายเล่มนี้ออก เงิน 1 บาทนี่ตัวละครพูดว่า “โห ครูปริศนาแกให้เงินเราตั้งหนึ่งบาทแหน่ะ” ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เป็น 10 ถุง ถัดมา 69 ปี ก๋วยเตี๋ยวชามละ 50-60 แล้วจ้า

  • สมัยก่อนที่อ่านจะรู้สึกว่าคนพูดน้อยอย่างพระเอกนี่เท่ห์จัง แต่พออ่านตอนนี้ก็คือไม่ได้ ฮือ แบบนี้เรียก “ไม่สื่อสาร” คิดอะไรทำไมไม่พูดออกมา บอกให้คนอื่นเข้าใจสิ ใครเขาจะอยากมานั่งเดา

  • ที่ตากอากาศของคนสมัยนั้นคือ หัวหิน พอถึงฤดูร้อน ทุกคนก็จะพากันนั่งรถไฟไปหัวหิน

  • กิจกรรมยามว่างอื่นๆ ในเรื่อง คือ ตีเทนนิส ไปล่องเรือ ดูหนังที่ราชวัตร กินข้าวต้มเจ๊ก จัดงานเลี้ยงที่วัง ฯลฯ

หากใครชอบแนวนี้แล้วยังไม่ได้ลองอ่าน อยากเชิญชวนให้ลอง นิยายที่อยู่ข้ามผ่านกาลเวลามักมีหลายมิติให้เสพย์ เห็นด้วยกับคนเขียนบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้างก็เสพย์สนุกไปอีกแบบ

มีบทวิจารณ์นิยายเล่มนี้เทียบเคึยงกับบ้านทรายทองในอีกมิติหนึ่งใน 101world ลองดูได้ตามลิงค์นี้ https://www.the101.world/ban-sai-thong-and-prissana/

Leave a Reply:

Your email address will not be published. Required fields are marked *