รีวิว Project Hail Mary โดย Andy Weir
August 28, 2022
“ราขึ้นดวงอาทิตย์ โลกเลยจะย้อนกลับสู่ยุค Ice Age มนุษย์เลยต้องไปอวกาศแก้ปัญหา”
นี่เป็นเรื่องย่อแบบสั้นสุดๆ ของนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อ Project Hail Mary เขียนโดย Andy Weir (คนแต่งเดียวกับ The Martian ที่เคยทำเป็นหนังเมื่อปี 2015)
ความรู้สึกหลังอ่านไปประมาณ 50 หน้าคือ “มันเนิร์ดสะใจฉิบหาย” อ่านไปแล้วก็แบบอะไรมันจะเนิร์ดวิทยาศาสตร์ขนาดนี้ ว้าวมาก (น่าจะยิ่งโดยเฉพาะคนที่ไม่มี scientific training แบบเรา) โคดประทับใจ 200 หน้าแรกคือสนุกแบบวางไม่ลง ใช้เวลาสองวัน ส่วนเกือบอีก 300 หน้าที่เหลือใช้อีกประมาณ 3 อาทิตย์
เพื่อไม่สปอยล์มากเกินไป จะรีวิวไม่เกิน 50 หน้าแรกของเรื่อง คนเขียนเล่าแบบค่อยๆ เผยพล็อตเรื่องทีละน้อย ถ้ารู้ล่วงหน้าอาจจะสนุกน้อยลง
รีวิวนี้เลยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รีวิวแค่บทแรก (แบบไม่สปอยเลย) และ รีวิวส่วนที่เหลือ 50 หน้าแรกของหนังสือ (สปอยช่วงต้น)
รีวิวบทที่หนึ่ง (ไม่สปอย)
ประโยคแรกของหนังสือ คือ คำถามสูตรคูณว่า “2×2 = เท่าไหร่”
ผ่านไปสักพักเราจะเริ่มเข้าใจสถานการณ์ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังคุยกับมนุษย์อยู่ เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นผู้ถาม แล้วมนุษย์คนหนึ่งที่หลับๆ ตื่นๆ เป็นคนต้องตอบ
ทุกครั้งที่ตัวเอกตอบผิด เครื่องจะฉีดยานอนหลับแล้วตัวเอกก็จะสลบไป คำถามที่ตัวเอกตอบไม่ถูกสักทีก็คือ ตัวเองชื่ออะไร
ตัวเอกของเราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชื่ออะไร แล้วมาอยู่ตรงนั้นในห้องที่ดูคล้ายห้องทดลองนี้ได้อย่างไร
พอตัวเอกเริ่มมีสติ หลังมีอาการมึนๆ คล้ายโดนวางยา ก็เริ่มมองสิ่งรอบตัว จับสังเกตได้ว่ามีบางอย่างมันแปลกๆ โดยเฉพาะเวลาที่ของตกลงมาจากชั้น
พอเริ่มชินกับสภาพแวดล้อม ก็เริ่มเรียนรู้ว่า เฮ้ย ฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใครก็จริง แต่ฉันมีทักษะแบบนักวิทยาศาสตร์ติดตัวมา ฉันรู้สึกว่าบางอย่างแปลก ต้องพิสูจน์ เลยทำการทดสอบด้วยอุปกรณ์สี่อย่างที่หาเจอจากชั้นวางในห้อง
- ตลับเมตร
- นาฬิกาจับเวลา
- ริบบิ้นสีแดง
- หลอดทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทำจากพลาสติก
ตัวเอกของเราเอาตลับเมตรวัดความสูงของโต๊ะจากพื้นได้ 91 เซ็นติเมตร หลังจากนั้นก็เอาหลอดทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทำจากพลาสติกมาทดสอบการตก รอบแรกใช้เวลาตกถึงพื้น 0.37 วินาที ทดสอบอีกรอบได้ 0.33 วินาที เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนเลยทดสอบซ้ำ 20 รอบ ได้เวลาเฉลี่ยออกมา 0.348 วินาที
ทีนี้ก็เอาสูตรบางอย่างมาคำนวณ
“Distance = ½ acceleration x squared”
สูตรที่ว่าคือสูตรคำนวณแรงโน้มถ่วง
พอคำนวณแล้วจึงพบว่า “แรงโน้มถ่วง” สูงเกินไป แรงโน้มที่คำนวณได้ดันอยู่ที่ 15 meter per second per second แต่แรงโน้มถ่วงปกติของโลกอยู่ที่ 9.8 meters per second per second
แต่ทีนี่ตัวเอกของเราก็พินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าไม่มีอะไรที่จะมีอิทธิพลเหนือแรงโน้มถ่วงโลกได้ จะลดก็ไม่ได้ จะเพิ่มก็ไม่ได้ ให้ตายยังไงโลกก็มีแรงโน้มถ่วงที่ 9.8 meters per second per second
คำอธิบายเดียวที่เป็นไปได้จึงเท่ากับว่าตอนนี้เขา “อยู่นอกโลก”
ส่วนที่เหลือ (สปอย)
พอรู้ตัวว่าอยู่ “นอกโลก” เรื่องก็เริ่มแฟลชแบ็คเหตุการณ์บนโลกสลับไปมากับสิ่งที่เกิดในยานอวกาศ
ตัวเอกของเราชื่อ Ryland Grace เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับประถมที่เคยโดนขับออกจากวงการสอนวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเพราะเขียนเปเปอร์ที่โดนด่ายับเพราะเคลมว่า “สิ่งมีชีวิตไม่ต้องมีไฮโดรเจน (น้ำ) ก็ดำรงชีวิตอยู่ได้”
ระหว่างใช้ชีวิตครูวิทยาศาสตร์โลกก็เกิดเหตุ ระหว่าง NASA ถ่ายทอดการเดินทางสำรวจอวกาศอยู่ๆ ก็เจอสิ่งมีชิวิตจุดดำๆ ที่ขยับได้ในกล้องจุลทัศน์
นับเป็น “มนุษย์ต่างดาว” หรือ “เอเลี่ยน” แรกที่พบโดยมนุษย์
Grace ก็เลยโดนตามตัว เพราะเจ้าของโครงการเชื่อว่าเจ้าจุดดำๆ นี่เป็นมนุษย์ต่างดาวที่ไม่มีไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบอยู่เลย
สิ่งที่โครงการนี้ค้นพบก็คือ เจ้าสิ่งมีชีวิตจุดดำๆ นี้ ทำให้ดวงอาทิตย์พลังงานลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะคิดว่าถูกตัวนี้ค่อยๆ “กิน” ถ้ายังโดนเจ้าจุดดำนี้กินไปเรื่อยๆ โลกจะเหลือเวลาประมาณ 30 ปีก่อนที่จะโลกจะกลับเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง (ice age) อุณหภูมิจะลดลง 10 องศา ประชากรในโลกก็ไม่น่าเหลือรอดเท่าไหร่แล้วถ้าถึงตอนนั้น
Grace เรียกจุดดำๆ นี้ว่า “Astrophage” (ซึ่งตั้งชื่อได้จีเนียสมาก Astro คือ เกี่ยวกับดวงดาว ส่วน phage แปลว่า สิ่งที่กัดกิน รวมแล้วเลยแปลว่า “สิ่งที่กินดวงดาว”)
Grace เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ช่วยวิจัยว่า Astrophage คืออะไร ก่อนจะพบว่ามันคือ “เชื้อราในกาแลกซี่” ถูกวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อดูดพลังจากดวงอาทิตย์เป็นอาหาร รอบนอกเป็นฉนวนคุมความร้อน ด้านในเป็นไฮโดรเจน แล้วพอถึงฤดูผสมพันธ์มันจะเดินทางไปทิศทางของวีนัสเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพราะมันใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตลูกหลาน Astrophage ออกมา
ทีนี่เพื่อกู้โลกพระเอกของเราก็เลยกลายเป็นหนึ่งในทีมเพื่อค้นหาบางอย่างเพื่อจะจัดการเจ้า Astrophage ส่วนจะกู้ได้มั้ย ต้องทำอะไรอีกบ้าง หาอ่านต่อได้ในหนังสือ
…….
สนุกโคด ระหว่างอ่านมีหลายครั้งมากที่รู้สึกว่า “เชี่ย จินตนาการคนเขียนจะไปสุดที่ตรงไหนวะ” แต่สารภาพว่าอ่านไม่รู้เรื่องหลายจุด เพราะใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ประกอบเยอะมาก ที่เล่าไปข้างบนบางส่วนอาจจะไม่ถูกหมดด้วยซ้ำ แต่ใดๆ ก็ตาม อ่าน! สนุก! มาก! สมศักดิ์ศรีหนังสือที่ได้รับเสียงโหวตท่วมท้นจาก Goodreads ในปีที่ผ่านมา
…….
[แถมเรื่องคนเขียน]
คุณ Andy Weir นี่ก็น่าสนใจสุดๆ เป็น ซอฟต์แวร์ เอนจิเนียร์ อยู่ 20 กว่าปีก่อนจะผันตัวเป็นนักเขียนเต็มตัวหลัง The Martian กลายเป็นหนังสือยอดฮิต
The Martian ตอนแรกเขียนเป็นนิยายฟรีส่งตามอีเมลทีละตอน แต่มีฮาร์ดคอร์แฟนสายเนิร์ดวิทยาศาสตร์เยอะมาก ก็เลยได้คอมเมนต์เชิงวิทยาศาสตร์เยอะมาก เขียนไปแก้ไป สุดท้ายเขียนจนจบคนชมมหาศาล บอกให้รวมเล่มขาย คุณแอนดี้ก็ไม่มั่นใจว่าอยากขายตอนแรก เพราะมีช่วงหนึ่งของชีวิตพยายามจะเป็นนักเขียนแล้วเฟล บริษัทที่ทำงานปิดตัวลงได้ตังค์ชดเชยเลยเอาออกมาใช้ชีวิตนักเขียนเต็มที่ตามฝันแล้วไปไม่รอด
แต่ผ่านไปสิบปี พอเป็น The Martian เอาลงขายแพลต์ฟอร์ม e-book amazon ปรากฎขายดีระดับติด 1 ใน 10 ของปี มีคนมาซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนัง สุดท้ายก็เลยได้กลายเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์สมใจ (Andy Weir Ending The Old Boy Network: The New World of Publishing, TEDxManhattanBeach, 2016)
นอกจากนี้คุณแอนดี้ยังประกาศว่าตัวเองเป็น “lifelong space nerd” และ “a devoted hobbyist of subjects such as relativistic physics, orbital mechanics, and the history of manned spaceflight” (เขียนอยู่ในพาร์ท About the Author ใน Project Hail Mary)