เทรนด์อนาคตหลัง 2022 ฉบับจิปาถะ
October 10, 2022
>> “ค้นหาตัวเองให้เจอ” is out “รู้จักตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ” is in
ไปดูละครเวทีเรื่อง Nowhereland แล้วช่วง Post Talk มีนักจิตบำบัดเล่าว่า เด็กๆ วัยรุ่นที่มาพบทนทุกข์จากการต้องค้นหาตัวเองให้เจอเยอะมาก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรือมี passion กับอะไร ซึ่งเราว่าความทนทุกข์แบบหมู่มวล และการเข้าถึงการบำบัดสุขภาพจิตที่มากขึ้นจะทำให้เทรนด์นี้เปลี่ยนไป
อนาคตเราจะพูดประโยคนี้กันน้อยลง เพราะเราเริ่มเข้าใจกันมากขึ้นว่าตัวเราไม่ใช่สิ่ง static ที่ “อยู่ตรงนั้น” ให้เราไปค้นหาได้ เราเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ตามเรื่องที่เข้ามาในชีวิต และ พอเปลี่ยนตามเรื่องที่เข้ามาในชีวิต สิ่งที่สำคัญน่าจะเป็นการเรียนรู้ว่าเรารับมือกับสิ่งที่เข้ามายังไง เราชอบ/ไม่ชอบอะไร รู้สึกพอใจ/ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น อยากอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายแบบนี้อีกในอนาคตอีกมั้ย
Buzz word ในอนาคตอันใกล้ (หรืออาจจะตั้งแต่ตอนนี้แล้ว) จะไม่ใช่ “การค้นหาตัวเอง” แต่เป็นการ “ค้นเจอตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ” ยุคของการต้องมี passion จะจางลง เปลี่ยนเป็นจะมีหรือไม่มีก็ได้ เน้นที่ self-discovery
ถ้าเราอยู่ด้วย mentality ว่าเราจะรู้จักตัวเองไปเรื่อยๆ ย่อมหมายความว่า กรอบเราน้อยลง เราไม่ได้มีแก่นอะไรต้องยึดจนตัวตาย แต่เราเรียนรู้ตัวเองไปกับเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วถ้าอะไรไม่เวิร์ค ก็สามารถเริ่มใหม่ได้
>> Climate anxiety is the new anxiety
เพิ่งอ่านนิยายของ Sally Rooney เรื่อง Beautiful World, Where Are You จบไม่นาน แล้วรู้สึกว่ามัน zeitgeist มากๆ (zeitgeist = capturing spirit of a generation) ไปเซิร์ชดูเพิ่มว่าชาวบ้านเขาคิดแบบเดียวกันมั้ย ก็พบว่า “เออ เราไม่ได้มโนคนเดียว” คนเขียนถูกเรียกว่าเป็น “foremost millennial writer” ซึ่งก็คงหมายความเป็นนักเขียนที่จับความรู้สึกคนยุค millennial (ฝั่งตะวันตก) ได้ดีมากๆ แถมยังเป็นนิยายที่คนใน Goodreads โหวตให้ได้รับความป๊อปปูลาร์สูงสุดใน genre นิยายลักษณะเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา
ตัวละครในเรื่องมี Climate Anxiety หนักมาก เป็นภาวะวิตกกังวลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน ตัวละครจะตั้งคำถามประเภทว่า “ทุกอย่างที่ฉันจะทำหรือรู้สึกดูไร้ความสลักสำคัญไปเสียหมด เมื่อเทียบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)” “การที่ฉันหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์และหน้าที่การงานยังจำเป็นอยู่หรือ”
ไอเดียหนึ่งที่รู้สึกเปิดโลก คือ คนยุคก่อนอาจจดจำว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คือ ชัยชนะของประชาธิปไตยเสรีนิยม แต่เด็กมิลเลนเนียมจำว่านี่คือวันที่มนุษยชาติพ่ายแพ้ เพราะชัยชนะของซีกอเมริกา+ยุโรป คือ จุดเร่งบริโภคนิยมมหาศาลจนนำมาสู่จุดที่ไม่มีทางแก้ไขได้อีกแล้ว (point of no return) ซึ่งสร้างปัญหาโลกร้อนให้เจนมิลเลนเนียมต้องรับสภาพอยู่ตอนนี้
>> Species เราเหลือเวลาอีก 700,000 ปี ทุกสิ่งที่เราตัดสินใจในวันนี้จะกำหนดชีวิตคนในอีกแสนๆ ปีที่เหลือ
ไอเดียนี้มาจากหนังสือชื่อ What We Own the Future ของ William Macaskill เป็นอ. สอนปรัชญาอยู่ Oxford
คนชอบคิดว่าโลกจะแตกอยู่เนืองๆ แต่คุณ Macaskill เถียงว่าไม่จริง โลกไม่จำเป็นจะต้องเดินไปในทิศทางนั้น ถ้าเราตัดสินใจถูกต้องร่วมกันในฐานะเผ่าพันธุ์ Homo Sapiens ในวันนี้ มีโอกาสมากที่เราจะอยู่ไปได้จนครบอายุสปีชียส์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมปกติซึ่งเท่ากับหนึ่งล้านปีโดยประมาณ ดังนั้นเราควรจะตัดสินใจทุกอย่างในวันนี้โดยการคำนึงถึงคนในอนาคตในอีก 700,000 ปีที่ยังไม่เกิดเป็นหลัก เพราะคนในอนาคตก็มีค่าพอๆ กับเราในทุกวันนี้
Macaskill บอกว่าเผ่าพันธุ์เราอยู่ในช่วงเวลาสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเราพัฒนาสังคมอย่างก้าวกระโดดในช่วงแค่ 2,000-3,000 ปี ในระดับที่ 3 แสนปีก่อนหน้านั้นทำไม่ได้ การพัฒนานี้มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่ไม่สามารถอยู่ยืนยาวได้ เพราะถ้าเรายังอยู่ด้วยความก้าวหน้าระดับนี้ โลกจะรับมือเราไหวได้อีกแค่ 2-3,000 ปีเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีประวัติศาสตร์ช่วงไหนในมนุษยชาติสำคัญไปกว่าช่วงนี้อีกแล้ว
คุณ Macaskill เชื่อว่า อนาคตยังเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเขาเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในโลกมี 2 แบบ แบบแรกอาจเรียกได้ว่า “เกิดขึ้นโดยไม่บังเอิญ” (non-contingency) ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วยังไง “เหตุการณ์” บางอย่างก็จะเกิดขึ้น เช่น การค้นพบความรู้เรื่อง Calculus ต่อให้ Newton ไม่ใช่คนค้นพบ Leibniz ซึ่งค้นพบความรู้เรื่อง Calculus เหมือนกันด้วยตนเองในอีก 2-3 ปีถัดมาก็ยังจะทำให้ความรู้ทาง Calculus แพร่หลายอยู่ดี
กลับกัน ประวัติศาสตร์แบบที่สองเป็นเรื่อง “บังเอิญ” (contingent) กล่าวคือ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ “บางอย่าง” เกิดขึ้นก็จะไม่มีเหตุการณ์ที่ตามมา ตัวอย่างเด่นชัดที่ Macaskill ยกมาคือ นิยายเรื่อง Jane Eyre ถ้า Charlotte Bronte ไม่เขียน นิยายเรื่องนี้ก็จะไม่เกิด ตัวอย่างนี้อาจฟังตรงไปตรงมา แต่คุณ Macaskill ยกอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจกว่า คือ เรื่องการเลิกทาส
การมีทาสเป็น “ค่านิยม” (value) หรือ “คุณธรรม” (moral) ทางสังคมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในยุคก่อนสงครามกลางเมืองสหรัฐ แม้แต่นักปรัชญาชื่อดังหัวก้าวหน้าที่สุดหลายคนก็ยังสนับสนุนให้มีทาส Macaskill บอกว่า “การที่สังคมปัจจุบันไม่ยอมรับทาส” เป็นเรื่อง “บังเอิญ” เพราะถ้าหากไม่เกิดการเรียกร้องเพื่อสิทธิของทาสโดยกลุ่ม Quaker ในปี 1700s สังคมทุกวันนี้ก็อาจจะพัฒนาในระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทัดเทียมปัจจุบัน แต่คนยังรู้สึกว่าการมีทาสเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น ความต้องการให้ศีลธรรมของสังคมปรับไปในทิศทางที่ต้องการจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “value lock-in” หรือ การที่สังคมยอมรับคุณธรรมบางอย่างร่วมกัน อย่างในกรณีนี้คือ การให้ความสำคัญกับคนอีกหลายล้านล้านคนที่จะเกิดตามมาในอีกหลายแสนปี ก็เป็นค่านิยมที่จะเกิดขึ้นจากความ “บังเอิญ” ของการลงมือทำบางอย่างในปัจจุบัน
ถ้า Sapiens ดัง เพราะ popularize ว่าเราเป็นใคร Homo Sapiens มาครองพิภพได้อย่างไร เล่มนี้อาจจะ popularize วิธีมองอีกแบบที่คนเขียนเรียกว่า Longtermism คือคิดระยะยาวในอีกหลักแสนปี มากกว่าที่จะคิดแค่เฉพาะในช่วงชีวิตของเรา คุณ Macaskill ผลักดัน movement ที่เรียกว่า effective altruism (https://www.effectivealtruism.org/ ) ซึ่งส่งเสริมให้มนุษยชาติใช้เงินทุ่มเทให้ถูกเรื่องกับการมีชีวิตรอดของมนุษย์ที่ยังไม่เกิดในอนาคต
อ้างอิง
Rooney, Sally. 2021. Beautiful World, Where Are You.
Macaskill, William. 2022. What We Owe the Future.