รีวิว Four Thousand Weeks คนเรามีชีวิตอยู่แค่ 4,000 สัปดาห์
March 6, 2023
รีวิว Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals
เปิดปีด้วยการอ่าน Four Thousand Weeks ถือเป็นการเริ่มศักราชการอ่านหนังสือที่ดีเยี่ยม เป็นอีกเล่มที่สมคำร่ำลือ ดีระดับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง
Four Thousand Weeks คือ หนังสือสำหรับคนที่อยากมีความสัมพันธ์ที่เฮลตี้กับเวลามากขึ้น อยากมี better relationship กับเวลา ใครที่เผลอติดโรคยุ่งจนรู้สึกไม่เคยมีเวลาเพียงพอ หนังสือที่เจอกันครึ่งทางระหว่างปรัชญาและ self-help เล่มนี้อาจจะช่วยให้ฉุกคิดอะไรได้หลายอย่าง เหมือนกับที่ชวนเราฉุกคิดอะไรหลายอย่าง
• เรา “ไม่ได้” ใช้เวลา แต่เรา “คือ” เวลา
เรามักคิดถึงเวลาในฐานะที่เป็น “ทรัพยากร” เมื่อบางสิ่งบางอย่างกลายเป็นทรัพยากร มันจึงต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่า แต่นักปรัชญาชาวเยอรมันคนหนึ่ง (ไฮเดกเกอร์) เถียงไว้ว่าตัวเราเองนั่นแหล่ะคือเวลา คนเขียนตั้งข้อสังเกตุว่าก่อนที่มนุษยชาติจะเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ ยุคแห่ง productivity เวลาคือชีวิต และ ชีวิตคือเวลา เวลาเป็นเพียงสื่อกลางเหมือนกับแม่น้ำ มนุษย์เป็นปลาที่ว่ายตามน้ำไปเรื่อยๆ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มแยกตัวเองออกจากเวลา เวลาจึงกลับกลายเป็น “ทรัพยากรที่ต้องถูกใช้” การใช้เวลาอย่างคุ้มค่าหรือการจัดการเวลาจึงเป็นทางออกสำหรับมนุษย์จำนวนมากที่รู้สึกผิดกับการใช้เวลาไม่คุ้มค่า การจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพกลายเป็นสิ่งที่กำหนดคุณค่าความเป็นมนุษย์ เวลากลายเป็นสิ่งที่เราต้องควบคุมให้ได้มากที่สุดมากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่ไหลไปพร้อมกับเรา
• เราจะไม่มีวันมีเวลามากพอ
แต่ข่าวร้ายก็คือ ไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหน เราจะไม่มีวันควบคุมเวลาได้ เราไม่มีวันมีเวลามากพอที่จะได้ทุกอย่างที่เราต้องการในชีวิต แม้สมองเราจะถูกออกแบบมาให้ทะเยอทะยานโดยไม่จำกัด แต่เวลาเรามีจำกัด โดยเฉลี่ย ชีวิตมนุษย์ทั่วไปมีอายุประมาณ 4,000 สัปดาห์ ถ้าคุณอายุเท่าเรา (35) หมายความว่าคุณใช้ไปแล้วประมาณ 1,820 สัปดาห์ ต่อให้โชคดีมีอายุยืนยาว คุณอาจอยู่ได้ถึง 5,000 สัปดาห์ แต่นั่นก็ไม่ได้มากกว่าอายุเฉลี่ยคนทั่วไปเท่าไหร่ ชีวิตเราสั้นกว่าที่คิดมาก
เมื่อเรามีเวลาจำกัด ปกติแล้วกูรูด้าน productivity ทั่วไปมักจะต่อประโยคให้ว่า “ชีวิตมีเวลาจำกัด ดังนั้น ต้องใช้ให้คุ้มค่า ต้องจัดการเวลาให้ดี เราถึงจะทำทุกอย่างที่อยากทำได้”
แต่หนังสือเล่มนี้จะยื่นมือมันออกมาแล้วเขย่าตัวเราแรงๆ ว่า “ชีวิตมีเวลาจำกัด ดังนั้น คุณจะไม่ได้ทำทุกอย่างที่คุณอยากทำในชีวิตหรอก อย่าแม้แต่จะฝืน
You can’t have it all.”
• เผชิญหน้ากับข้อจำกัดของการเป็นมนุษย์
เมื่อเรายอมจำนนโดยดุสดีแล้วว่าเราจะไม่มีวันมีเวลาพอสำหรับทุกอย่าง สิ่งต่อไปคือ การเผชิญหน้ากับข้อจำกัดของเรา เราต้องเลิกหนี finitude เราควรเลิกผลัดวันประกันพรุ่งเพราะการผลัดวันประกันพุ่งคือ การหลีกหนีว่าเราเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เมื่อลงมือทำอะไรบางอย่างมันจะไม่ออกมาดีเท่าที่เราคิดในหัว เรามีเวลาแค่นี้เท่านั้นในการลงมือทำ This is it. This is all you’re ever going to get. โดยเมื่อเราเลือกทำสิ่งหนึ่ง เราต้องเลือกสละสิ่งอื่นไป เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ หรือเลือกที่จะให้คนอื่นผิดหวังบางอย่างในตัวเรา เพราะเราไม่สามารถตอบสนองได้ต่อทุกคน
• หินก้อนใหญ่ในโหลแก้ว
การเลือกจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนคงเคยได้ยินอุปมาที่บอกว่าชีวิตเราเป็นดั่งโหลแก้ว มีหินก้อนใหญ่ กรวด และทราย ซึ่งจะต้องเติมให้เต็มโหล ถ้าหากเติมทรายลงไปก่อน แล้วตามด้วยก้อนกรวด เราก็จะเหลือที่ให้หินก้อนใหญ่ไม่มาก หินก้อนใหญ่ กรวด และทรายคือ สิ่งที่เราต้องทำในชีวิต หินก้อนใหญ่คือเรื่องสำคัญที่สุด กรวดคือเรื่องสำคัญรองลงมา และทรายคือเรื่องสำคัญน้อยที่สุด หากเราเติมทรายซึ่งมีความสำคัญน้อยที่สุดก่อน เราจะไม่เหลือที่ให้กับหินก้อนใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสุดในชีวิต ดังนั้น เราต้องใส่หินก้อนใหญ่ในโหลแก้วก่อน จึงตามด้วยกรวดและทราย เพื่อให้ทุกอย่างฟิตในโหลได้อย่างพอดิบพอดี
แต่ชีวิตไม่ง่ายขนาดนั้น ผู้เขียนบอกว่าปัญหาของโลกยุคนี้ไม่ใช่การยัดหิน กรวด และทรายลงโหล แต่เป็นการมีหินมากเกินไปต่างหาก
เราจำเป็นที่ต้องยอมรับความจริงว่าไม่ว่าหินจะก้อนใหญ่ สวย หรือสำคัญเพียงไหน แต่เราจะไม่มีเวลาหยิบหินทุกก้อนลงขวดแก้ว เราต้องตัดใจเลือกหินแค่บางก้อน แล้วปล่อยวางหินที่เราจะไม่มีวันได้หยิบลงขวด โดยยังรักษาความสงบทางจิตใจไว้ได้
• เราต้องระวังไม่หลงไปกับสิ่งที่สำคัญกลางๆ
มีตำนานว่านักบินส่วนตัวของวอร์เรน บัฟเฟตขอคำปรึกษาจากวอร์เรน บัฟเฟตเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ วอร์เรน บัฟเฟตเลยบอกให้นักบินลิสต์สิ่งที่เขาต้องการในชีวิตทั้งหมด 25 ข้อ และให้เรียงลำดับตามความสำคัญ เมื่อได้ลิสต์ออกมา วอร์เรน บัฟเฟตบอกว่านักบินควรจะทุ่มเวลาชีวิตให้กับ 5 ข้อแรก อย่างไรก็ตาม คำแนะนำต่อจากนั้นเกินที่ใครๆ จะคาด เพราะเรามักคิดว่าก็ถูกแล้ว เราควรให้ความสำคัญกับ 5 ข้อแรก แล้วพอมีเวลาค่อยทำ 20 ข้อที่เหลือ แต่สิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตแนะนำคือให้ใช้ชีวิตห่างไกลจาก 20 ข้อที่เหลือมากที่สุด โยน 20 ข้อทิ้งไปซะ เพราะ 20 ข้อนี้สำคัญมากพอที่เอาเวลาและความสนใจไปจากเรา แต่มันก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เรามองว่าสำคัญมากที่สุดอยู่ดี ระวังว่าสุดท้ายแล้วเราจะใช้ชีวิตไปสิ่งสำคัญกลางๆ โดยไม่ได้ทำสิ่งที่จริงๆ สำคัญสำหรับเรามากกว่า
• ความสุขจากการพลาดเกือบทุกสิ่งในโลก (The Joy of Missing Out)
เมื่อเราเลือกที่จะทิ้งบางอย่างไป จะหินก้อนอื่นก็ดี หรือ สิ่งสำคัญกลางๆ ก็ดี แทนที่เราจะจมอยู่กับความรู้สึก FOMO: Fear of Missing Out กลัวพลาดอะไรบางอย่าง เราควรจะโฟกัสที่ Joy of Missing Out แทน จงดีใจที่พลาดสิ่งเหล่านั้น เพราะหากนั่งคิดดูแล้ว อันที่จริงมนุษย์หนึ่งคนก็พลาดเกือบทุกประสบการณ์ในโลกอยู่แล้ว ประสบการณ์ที่เหลือให้เราได้สัมผัสในชีวิตจริงๆ มีน้อยมาก เราควรจะอยู่กับประสบการณ์ตรงหน้านั่น เผชิญหน้ากับข้อจำกัดใดก็ตามที่มาพร้อมประสบการณ์ ปล่อยวางสิ่งใดก็ตามที่เราไม่ได้เลือก แล้วให้เวลาตัวเองได้อยู่กับสิ่งนั้น
• ชีวิตคือผลรวมของสิ่งที่เราให้ความสนใจ
มีประโยคหนึ่งในหนังสือที่สวยงามมาก เขาเขียนว่า “Your experience of being alive consists of nothing other than the sum of everything to which you pay attention.” ประสบการณ์การใช้ชีวิต คือ ผลรวมของสิ่งที่เราให้ความสนใจ สิ่งที่เราให้ความสนใจ (attention) ก็เหมือนกับเวลา เรามักมองเป็นทรัพยากร หากแต่จริงๆ แล้วมันคือสาระของชีวิต ในหนังสือยกตัวอย่างแบบฝึกหัดหนึ่ง อาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลปะ ม. ฮาร์วาร์ด สั่งให้นักศึกษาเลือกภาพเขียนหนึ่งภาพแล้วนั่งดูผลงานชิ้นนั้น 3 ชั่วโมงเป๊ะโดยห้ามทำกิจกรรมอื่นแทรก ห้ามเช็คอีเมล ห้ามเปิดโซเชียลมีเดีย ห้ามวิ่งหนีไปซื้อกาแฟสตาร์บัค ฯลฯ คนที่ถูกสั่งให้ดูผลงานศิลปะไม่เหลือทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องอดทน ผู้เขียนสมัครใจลองทำกิจกรรมนี้ตามนักศึกษาก่อนจะพบว่า 80 นาทีแรกคือความทรมานอันยิ่งยวดของชีวิต ก่อนที่จะเริ่มค้นพบรายละเอียดในภาพเขียนที่ไม่เห็นก่อนหน้า และค้นพบว่าตนเองอยากเลิกควบคุมเวลาให้เร็วตามที่ใจต้องการ และปล่อยให้เวลาดำเนินไปตราบเท่าที่กิจกรรมเรียกร้อง ในโลกปัจจุบันที่ความเร็วกดดันชีวิตอยู่สม่ำเสมอ บางครั้งเราต้องมีความอดทนที่จะอยู่กับความไม่สบายกาย/ใจเพื่อดูว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางใด
• You get to be here
ทำทั้งหมดที่พูดมาแล้วได้อะไร รางวัลที่ผู้เขียนบอกว่าเราจะได้รับคือ “You get to be here.” เราจะได้ใช้ชีวิตกับปัจจุบัน และไม่กี่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทุกการกระทำจะไม่ใช่การกระทำที่มุ่งสู่อนาคต เราจะไม่ใช่เด็กอนุบาลที่เตรียมรอเป็นเด็กประถมเพื่อจะเตรียมรอเป็นเด็กมัธยมเพื่อเตรียมรอเป็นเด็กมหาลัยเพื่อเตรียมรอเป็นวัยทำงานเพื่อรอเปลี่ยนงานเพื่อเตรียมรอวัยเกษียณ เราจะได้เรียนรู้ที่จะยอมรับว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตก็จะมีสิ่งที่เราควรทำมากเกินกว่าที่ข้อจำกัดความเป็นมนุษย์จะเอื้ออำนวย เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตัดสินใจ หรือ ให้โลกหมุนเร็วตามใจเราได้
คอนเมนท์สุดท้ายจากเรา
นี่เป็นหนังสือที่ทำงานกับเราระดับ paradigm shift คือ อ่านจบแล้วเปลี่ยนวิธีมองโลกได้ หนึ่งในความรู้สึกที่เปลี่ยนคือ เรา “รู้สึก” ยุ่งน้อยลงมากๆ เน้นที่ความรู้สึก เพราะเอาจริงๆ ในเชิงการใช้ชีวิตอาจจะใช้เวลาทำงานเท่าเดิม แต่สมองรู้สึกยุ่งน้อยลงมาก เพราะความรู้สึกอันนี้ก็ต้องทำ อันนั้นก็ต้องทำโดนขจัดออกไปเยอะมาก มันถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกว่า เราทำได้เท่านี้แหล่ะ ทำได้แค่สิ่งที่เลือกแล้วอยู่ตรงหน้าทีละอย่าง ถ้าเราให้เวลากับสิ่งนี้ก็หมายความว่าเราจะไม่ได้ให้เวลากับสิ่งอื่น ถ้าเราเลือกให้เวลากับงานนี้ก็หมายความว่าเราจะไม่ได้ทำงานอดิเรกนั้น ถ้าเราเลือกงานอดิเรกนั้นเราก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้งานจะน้อยลง ถ้าเราเลือกใช้เวลาเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็หมายความว่า ช่วงนี้เราอาจจะไม่ได้ทำบางอย่างเต็มที่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้จิตใจสงบมาก และนำไปสู่สิ่งที่หนังสือบอก คือ The Joy of Missing Out และการปล่อยวาง ปล่อยออกจากตัว และวางมันไว้ตรงนั้น บอกเลยว่านี่คือหนังสือธรรมะแห่งชาวมิลเลเนียล ใครที่รู้สึกว่าตัวเองมีเวลาไม่พอเสมอควรอ่านเล่มนี้จริงๆ แนะนำ มีแปลไทยแล้วด้วย